น้ำยา Sealant ของ TUFO นั้นมีทั้งหมด 2 แบบ แต่ละแบบก็จะใช้แตกต่างกันออกไปตามที่เราได้เคยนำเสนอกันไปในคอนเทนต์ก่อนหน้านี้ วันนี้เราจะมาพูดถึงน้ำยาสองตัวนี้กันว่ามันใช้งานได้แตกต่างกันอย่างไร แล้วเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับยางประเภทอื่นนอกจากยางฮาร์ฟได้อีกหรือไม่ 

น้ำยา SEALANT PACKAGING ใหม่ของ TUFO นั้นถูกแบ่งออกได้ 2 สี คือ กล่องสีดำแถบสีเหลือง คือ TUFO tyre sealant For prevention of flats เป็นน้ำยา sealant สำหรับใช้เติมยางก่อนที่เราจะออกปั่นเพื่อป้องกันการรั่ว อีกแบบคือกล่องสีดำแถบกล่องสีเทาเข้มคือ TUFO tyre sealant Carbon เป็นน้ำยาเติมยางเช่นกันแต่จะใช้เติมเมื่อเกิดการรั่วแล้วค่อยเติมจะแห้งเร็วกว่าตัวสีเหลืองครับ

มาดูเรื่องของการใช้งานจริงและเหตุผลที่ควรต้องใช้กันดีกว่า ปกติแล้วนักปั่นมักจะรู้กันดีว่าเวลาเราใช้ยางฮาร์ฟจะต้องเติมน้ำยา Sealant ด้วย เพราะว่าลักษณะของยางฮาร์ฟนั้นจะเป็นยางท่อเดียวเหมือนกับว่าเอายางในมาทำเป็นยางนอก เมื่อเกิดการรั่วหรือการฉีกขาดของเนื้อยางทำให้ลมนั้นออกจนหมด มันจะไม่สามารถทำการปะได้เหมือนกับยางงัด และมันมีความยุ่งยากในการเปลี่ยนยางมากกว่ายางประเภทอื่นๆ ซึ่งระหว่างทางหรือระหว่างการแข่งขันมันไม่สะดวกในการเปลี่ยนแน่นอน จึงต้องมีการเติมน้ำยาที่ช่วยในการอุดรอยรั่วได้ก็คือน้ำยา Sealant แต่การใช้งานน้ำยา ก็มักจะมีปัญหาอื่นตามมาอีกด้วยถ้าหากไม่ดูแลรักษา 

ส่วนมากในการแข่งขันรายการทัวร์ใหญ่ๆ เรามักจะเห็นว่ามีรถเซอร์วิสของทีมวิ่งตามมาเปลี่ยนล้อแทนการเปลี่ยนยางเวลายางรั่วหรือยางแตก ถามว่าเขาไม่ได้ใช้น้ำยา Sealant เติมเข้าไปหรือเปล่า? ความเป็นจริงแล้วคือใช้ครับ แต่วัตถุประสงค์ในการใช้ของนักแข่งคือเมื่อเกิดการรั่วแล้วให้น้ำยา Sealant เป็นตัวผสานยางเพื่ออุดรอยรั่วให้ลมออกน้อยที่สุดพอที่จะให้ยางนั้นใช้ปั่นไปได้เรื่อยๆ ไม่เสียเวลาและระยะทางเยอะเกินไปจากคู่แข่งหรือกลุ่ม เพื่อรอรถเซอร์วิสของทีมมาทำการเปลี่ยนล้อให้ ซึ่งเชื่อมโยงกับคำถามที่หลายๆ คนสงสัยกันว่าถ้าหากรั่วแล้วน้ำยาเอาอยู่เราควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่หรือไม่? แนะนำว่าถ้ารั่วระหว่างทางแล้วน้ำยา Sealant เอาอยู่ก็เติมลมเพิ่มแล้วปั่นให้จบกิจกรรมนั้นๆ ของเรา สุดท้ายแล้วเราจึงค่อยเปลี่ยนยางเส้นใหม่จะดีกว่า เพราะยางที่สภาพสมบูรณ์นั้นย่อมดีกว่าแน่นอน แค่น้ำยา Sealant เป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีและลดความยุ่งยากในเรื่องของยางได้มากกว่า

ความเป็นจริงแล้วน้ำยา Sealant ที่เราเห็นกันอยู่นี้ไม่ได้ใช้ได้แค่กับยางฮาร์ฟและยางทูปเลส แต่บางแบรนด์นั้นมันยังสามารถประยุกต์ใช้กับยางงัดได้อีกด้วย วิธีการใช้ก็คือเติมลงไปในยางในแต่ปริมาณในการเติมอาจจะน้อยกว่าที่เติมยางฮาร์ฟหรือยางทูปเลสนิดหน่อย เพราะว่ายางในมีขนาดที่เล็กกว่า ยกตัวอย่างเช่นน้ำยา 1 ขวด 50 มิลลิลิตร ตามปกติแล้วจะสามารถเติมยางฮาร์ฟได้ประมาณ 3 เส้น เวลาเราจะใส่ยางในก็ใส่ประมาณเกือบครึ่งขวดก็เป็นปริมาณที่พอดี แต่ข้อแม้คือยางในที่ใช้จะต้องสามารถถอดเปลี่ยนวาล์วยางได้ด้วยจึงจะสามารถเติมน้ำยา Sealant ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อยางรั่วแล้วน้ำยาเอาอยู่ก็จะไม่ปะหรือไม่เปลี่ยนยางในเลย ความเป็นจริงคือน้ำยา Sealant เป็นตัวช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งแต่สำหรับยางในนั้นเมื่อมันรั่วแล้วน้ำยาเอาอยู่ก็จริง แต่แนะนำว่าหลังจบกิจกรรมการปั่นในวันนั้นแล้วให้ปะยางซ้ำไปอีกรอบหรือเปลี่ยนยางในเลยก็จะมีประสิทธิภาพในการปั่นครั้งถัดไปมากกว่า ยางฮาร์ฟก็เช่นกัน 

เมื่อรู้ว่าถ้าเติมน้ำยา Sealant ไปในยางในมันเอาอยู่จริงๆ แต่ปั่นจบแล้วก็ต้องปะซ้ำอยู่ดีหรือเปลี่ยนยางในอยู่ดี ทำไมเราไม่ปะยางหรือเปลี่ยนยางในใหม่แต่แรกเลย? มันมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ว่าด้วยเรื่องของความสะดวกสบาย อย่างน้อยตอนรั่วก็มีน้ำยาที่ช่วยผสานยางให้มันไม่รั่วจนลมหมดเส้นและปั่นต่อไปได้จนจบกิจกรรมโดยที่เราไม่ต้องแวะข้างทางเพื่อมานั่งงัดยางหรือเปลี่ยนยางในเลย บางโอกาสเราอาจจะไปปั่นทางไกลที่อยู่ตามเขตชนบทหรืออากาศร้อนมาก ก็คงไม่มีใครอยากนั่งปะยางหรืองัดเปลี่ยนยางอยู่ข้างทางที่รอบตัวมีแต่ทุ่งนาป่าเขาใช่ไหมครับ การเติมน้ำยา Sealant เอาไว้ก่อนก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีมากกว่าจะต้องมานั่งเสียเวลาเปลี่ยนยาง แล้วหลังจากที่ปั่นเสร็จกลับมาที่พักแล้วจึงค่อยเปลี่ยนยางในหรือปะก็เป็นเรื่องที่สบายมากกว่า 

ข้อที่ควรระวังในการใช้น้ำยา Sealant คือเมื่อเราใช้ไปนานๆ และใช้บ่อยมากน้ำยาจะเกิดการแห้งตัวได้ตามธรรมชาติ เราจึงต้องมีการถอดวาล์วออกมาล้างอยู่บ่อยๆ ไม่อย่างนั้นจะมีเศษคราบของน้ำยา Sealant ที่แห้งไปอุดตันที่หัววาล์ว ทำให้เราเติมลมยางไม่เข้าหรือวาล์วยางมีปัญหาในอนาคตได้ นักปั่นบางท่านจึงนิยมใช้น้ำยาสูตรแห้งไวที่ใช้เติมตอนรั่วแล้วมากกว่า แต่การใช้น้ำยาทั้ง 2 สูตร ก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้แบบไหนสะดวกกับสถานการณ์นั้นๆ มากกว่าครับ