นักปั่นจักรยานหลายท่านที่เคยซื้ออะไหล่มือหนึ่งมักจะคุ้นชินกับคราบสีฟ้าๆ ตามเกลียวของอุปกรณ์อาจจะสงสัยว่ามันคือคราบอะไร วัสดุสึกหรอหรือเปล่า หรือเป็นคราบสิ่งสกปรก ความเป็นจริงแล้วถ้าหากพบเจอคราบสีฟ้าๆ ตามเกลียวต่างๆ ไม่ต้องตกใจไปเพราะว่ามันคือคราบของน้ำยาล็อคไทท์ ซึ่งวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับน้ำยาตัวนี้กันว่ามีไว้ใช้ทำอะไร แล้วจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้มัน

คราบสีฟ้าที่เราเห็นกันส่วนใหญ่ตามเกลียวน็อตหรืออะไหล่ต่างๆ นั่นคือน้ำยาล็อคไทท์ ซึ่งวัตถุประสงค์ของน้ำยาตัวนี้มีหน้าที่ในการช่วยการยึดเกาะกับวัสดุ พูดง่ายๆ คือทำหน้าที่คล้ายกับกาวตราช้าง แต่พอบอกแบบนี้แล้วอาจจะสงสัยว่าแล้วถ้าอย่างนั้นเราจะใส่จาระบีกันยึดติดของเกลียวต่างๆ ไปกันทำไม? ต้องบอกว่าวัตถุประสงค์ของมันค่อนข้างจะต่างกันและใส่ตามจุดที่อาจจะต่างกันนิดหน่อยหรือบางจุดเราจะเลือกใช้จาระบีหรือน้ำยาล็อคไทท์ก็ได้แล้วแต่จุดประสงค์ของนักปั่น โดยทั่วไปแล้วการทาจาระบีเรามักจะบอกกันว่าทาเพื่อกันยึดติด แต่ในความเป็นจริงเหตุผลในการทาจาระบีตามเกลียวก็เพื่อการป้องกันเศษสิ่งสกปรกหรือการป้องกันสนิมและการยึดติดกันของวัสดุที่อาจเกิดการรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้ แต่น้ำยาล็อคไทท์นั้นทาไว้เพื่อให้มีการยึดติดที่แน่นหนาโดยที่ไม่ได้เกิดจากการรวมเป็นเนื้อเดียวกันของวัสดุ เพราะฉะนั้นน้ำยาล็อคไทท์จะถูกใช้ไปตามจุดต่างๆ ที่อาจเกิดการคลายตัวได้ง่ายหรือป้องกันการคลายตัวตามจุดต่างๆ ที่ต้องรองรับแรงกระแทกสูงนั่นเอง

การใช้น้ำยาล็อคไทท์จะช่วยให้วัสดุกับอุปกรณ์ยึดติดกันอย่างแน่นหนา ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่วัสดุเราและอุปกรณ์นั้นเกิดคราบขี้เกลือ สนิม หรือโดนแรงบีบอัดจนทำให้ยึดติดกันจนแน่นหนา ถ้าเกิดสนิม ขี้เกลือ หรือ อะไหล่โดนแรงบีบอัดจนทำให้วัสดุและอะไหล่นั้นติดกันแน่นหนาจนเกินไปสิ่งที่ตามมาคือเราถอดออกได้ยากและบางครั้งวัสดุอาจจะกินเนื้อกันจนกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้วทำให้อะไหล่ของเราเกิดความเสียหายได้ บางกรณีการไม่ใช้น้ำยาล็อคไทท์อาจจะทำให้จักรยานของเราเกิดเสียงรบกวนได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นการใช้น้ำยาล็อคไทท์จึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจำเป็นครับ

ส่วนใหญ่น้ำยาล็อคไทท์ที่เราเห็นกันจะถูกใช้ตามน็อตต่างๆ เช่น น็อตสเต็ม น็อตตัวรัดหลักอาน น็อตยึดขากระติดน้ำ น็อตยึดเบรก น็อตยึดใบดิสก์เบรก โดยจะมีเป็นคราบน้ำยาสีฟ้าๆ ทาที่เกลียวเอาไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้วน้ำยาล็อคไทท์ถูกใช้งานได้มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทาเพื่อยึดกระโหลก Pressfit หรือ กระโหลกเกลียว ใช้ทาน็อตที่ใช้ยึดข้อต่อของเฟรมจักรยาน เช่น เฟรมจักรยานดาวน์ฮิลล์ เป็นต้น ด้วยการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปตามจุดน้ำยาล็อคไทท์จึงต้องแบ่งระดับความแน่นในการใช้งานด้วยเพราะว่าแต่ละจุดนั้นรับน้ำหนักและแรงกระแทกที่ต่างกัน ซึ่ง Park Tool จะถูกแบ่งออกเป็น 3 สี

ขวดสีฟ้า Park Tool TLR-1 เป็นน้ำยาล็อคไทท์ที่เรามักจะพบได้ทั่วๆ ไปตามเกลียวน็อตใหม่ๆ จะมีแต้มมา ตัวนี้เราจะใช้กันตามเกลียวน็อตต่างๆ ซึ่งเป็นจุดที่ไม่ได้รับแรงกดแรงกระแทกสูงทำให้เกิดการคลายตัวของน็อตได้น้อย แต่ถ้าไม่ทาตัวนี้น็อตก็มีโอกาสในการคลายตัวได้เช่นกัน สังเกตได้ว่าหากเราปั่นจักรยานไปนานๆ เราต้องหมั่นตรวจเช็คค่านิวตันเมตรของน็อตอยู่เสมอนั่นเป็นเพราะว่าน็อตมันคลายตัวได้ถึงเราจะขันแน่นแล้วก็ตามแรงสั่นสะเทือนก็ส่งผลให้มันคลายตัวได้ น้ำยาล็อคไทท์ TLR-1 จึงมีจุดประสงค์มาช่วยในการยึดติด โดยเราจะใช้น้ำยาตัวนี้ที่น็อตเบาะจักรยาน น็อตรัดหลักอาน น็อตสเต็ม น็อตยึดขากระติก น็อตยึดชิฟเตอร์ น็อตยึดเบรก ฯลฯ ข้อดีของน้ำยาตัวนี้คือในกรณีที่เกลียวรูดแล้วเราสามารถทาน้ำยาตัวนี้แล้วขันน็อตเข้าไปเพื่อให้มันยึดติดได้ เพราะถ้าเกรียวรูน็อตเสียสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะรู้สึกว่าขันน็อตเข้าได้แต่ขันเท่าไหร่ก็ไม่แน่นสักทีถ้าหากปล่อยไว้น็อตก็หลุดได้  ให้หยอดน้ำยาล็อคไทท์เข้าไปแล้วขันน็อต ผ่านไป 1 วันรับรองว่าแน่นครับ

ต่อมาคือขวดสีแดง TLR-2 เป็นน้ำยาล็อคไทท์เช่นเดียวกับ TLR-1 แต่จะเป็นสูตรที่ล็อคได้แน่นกว่ามาก เพราะฉะนั้น TLR-2 จะเหมาะกับการใส่ตามน็อตจุดต่างๆ ที่ต้องรองรับแรงกระแทกหรือแรงสั่นสะเทือนสูง เช่น น็อตยึดส่วนข้อต่อของเฟรมจักรยานดาวน์ฮิลล์ ลักษณะของจักรยานดาวน์ฮิลล์คือการลงเข้าและกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง เพราะฉะนั้นน็อตต่างๆ ต้องรับภาระในการรับแรงกระแทกและแรงสั่นสะเทือนที่สูงไม่แพ้เฟรมหรือล้อมันจึงเกิดการคลายตัวได้เพราะฉะนั้นแค่การขันค่านิวตันเมตรให้ตรงอาจจะไม่พอให้น็อตแน่นจนไม่เกิดการคลายตัว จึงต้องใช้น้ำยาล็อคไทท์เข้ามาช่วย ถ้าหากน็อตข้อต่อของเฟรมจักรยานหลุดระหว่างทางลองคิดดูสิครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น นอกจากจะช่วยยึดแน่นแล้วน้ำยาล็อคไทท์ยังมีส่วนช่วยให้คุณนั้นปั่นจักรยานได้อย่างปลอดภัยหายห่วงได้เช่นกัน

ขวดสีเขียว RC-1 ตัวนี้เป็นน้ำยาล็อคไทท์ที่จะต้องใช้กับกระโหลก Pressfit เท่านั้น โดยใช้คู่กับน้ำยารองพื้น AP-1 ซึ่งจะต้องทาก่อนทาน้ำยาล็อคไทท์ลงไป เหตุใดเราถึงต้องใช้น้ำยาล็อคไทท์กับกระโหลกจักรยานด้วย เพราะว่ากระโหลกนั้นก็เหมือนกับน็อต มีการคลายตัวได้ มีการหลวมได้ ในกรณีกระโหลก Pressfit อาจจะเกิดปัญหาในเรื่องของเบ้ากระโหลกที่วัสดุเป็นคาร์บอนของเฟรมเกิดการขยายตัวได้เนื่องจากการบีบอัดที่ไม่ดีหรือใช้กระโหลกสลับกันไปมาระหว่างแบบพลาสติกและแบบอลูมิเนียม มันจึงต้องมีน้ำยาล็อคไทท์ที่เอาไว้ใช้สำหรับกระโหลกโดยเฉพาะ และกระโหลกจักรยานก็เป็นจุดที่รองรับแรงของเราโดยตรงไม่แพ้เฟรมจักรยานมันจึงมีโอกาสที่จะเกิดการคลายตัวของวัสดุได้สูงเช่นกัน

เรื่องสุดท้ายคือเรื่องของอาการเสียงรบกวนที่เกิดจากจักรยาน ในบางกรณีน้ำยาล็อคไทท์ก็มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ได้ เช่น กรณีของน็อตใบจานหลวม เมื่อพบปัญหาเรื่องเสียงรบกวนดังมาจากแถวๆ เท้าของเราหลายคนจะตีไปเลยว่าเป็นที่กระโหลกจักรยานแน่ๆ แต่ความจริงแล้วเราเคยพบเคสแบบนี้ว่าเกิดได้จากน็อตใบจาน แค่เพียงตัวเดียวที่เกิดการคลายตัวก็สามารถทำให้เกิดเสียงรบกวนได้แล้ว เสียงจะดังแต๊กๆ อาการเสียงคล้ายกับกระโหลกหลวม เนื่องจากว่าน็อตที่ใช้นั้นเสื่อมสภาพทำให้เมื่อขันค่านิวตันเมตรไปแล้วก็เกิดการคลายตัวได้ง่ายเมื่อใช้งานอยู่ดีจึงจำเป็นต้องใช้น้ำยาล็อคไทท์ในการช่วยยึดติดครับ

อย่างที่เรากล่าวไปเมื่อเริ่มต้นคอนเทนต์ว่าน้ำยาล็อคไทท์อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ทุกคนอาจจะมองข้ามมันไป แต่หารู้ไม่ว่าน้ำยาล็อคไทท์นี่แหละเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาตามจุดต่างๆ ได้ดีเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นน็อตรูด หลักอานรูดลงง่าย แฮนด์รูดในขณะปั่น มีเสียงรบกวนจากจักรยาน หรือ กรณีกระติกน้ำหลุดไปพร้อมขากระติกตอนปั่นเลยก็มี น้ำยาล็อคไทท์เป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาได้หลากหลายอย่างเพราะฉะนั้นอย่ามองข้ามน้ำยาล็อคไทท์กันนะครับ