เราเคยได้เขียนคอนเทนต์เรื่องการทำ Bike Fit และการปรับส่วนต่างๆ ไปบ้างแล้ว แต่สิ่งพื้นฐานมากๆ อย่างเรื่องของการเตรียมตัวนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่หลายๆ คนนั้นไม่ทราบ เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะมาพูดถึงในเรื่องการเตรียมตัวไปทำ Bike Fitting กันว่าเราควรเตรียมตัวอย่างไรดีจึงจะได้ผลของการทำ Bike Fit อย่างมีประสิทธิภาพ จากพี่เจ๋  Werit Pubpanont Professional Bike Fitter

การเตรียมตัวก่อนมาทำไบค์ฟิตทั้งผู้หญิงและผู้ชายนั้นไม่ต่างกัน อย่างแรกก่อนที่จะมา Bike Fitting ต้องดูก่อนว่าเรามีปัญหาอะไรอยู่บ้างในตอนนั้น ถ้าหากพบเจอปัญหาอะไร ปั่นไม่สบายตรงจุดไหน เขียนลงใส่กระดาษให้หมด เพราะว่าการที่เราไปทำไบค์ฟิต เราทำเพื่อแก้ปัญหาหรือเพื่อที่จะซัพพอร์ทเป้าหมายในการปั่นของเราให้ดีขึ้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เรื่องเป้าหมายเป้นเรื่องสำคัญ ถ้าเป็นนักปั่นจักรยานมาทำไบค์ฟิตเขาจะมีเป้าหมายอย่างชัดเจน เช่น อยากส่งกำลังไปที่รถได้ดีกว่าเดิม ลดโอกาสที่จะเกิดอาการบาดเจ็บ แต่ถ้าหากเป็นคนธรรมดาที่ปั่นมาสักระยะแล้ว รู้สึกว่าทำไมปั่นแล้วมันรู้สึกเจ็บก้น มีปัญหาเจ็บเข่า ปวดเอ็นร้อยหวาย เท้าชา มีปัญหาอะไรแบบนี้ต้องจดมาให้หมดเลย เพื่อที่ว่าตอนเราไปทำไบค์ฟิตจะได้ไม่พลาดว่าเราลืมบอกปัญหาอะไรกับไบค์ฟิตเตอร์ที่ทำให้เราไปบ้าง จะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุดและมีประสิทธิภาพในการปั่นจักรยาน

ส่วนในด้านการเตรียมร่างกายก่อนมาทำไบค์ฟิต อยากให้ทุกคนคิดว่าเราเตรียมตัวออกไปปั่นกลุ่มกับเพื่อนๆ ก็คือเตรียมตัวเหมือนเราออกไปปั่นจักรยานปกติ ส่วนการวอร์มร่างกายเดี๋ยวจะมีการวอร์มก่อนทำไบค์ฟิตอยู่แล้วไม่ต้องกังวลตรงจุดนี้ เพราะต้องมีการตรวจร่างกายก่อน ที่สำคัญมากๆ อยู่ตรงที่การทานอาหารมากกว่า เรามักจะรู้กันดีว่าก่อนออกปั่นเราไม่ควรทานอาหารที่หนักมาก ก่อนมาทำไบค์ฟิตก็เช่นกัน มื้อสุดท้ายก่อนที่จะมาทำไบค์ฟิตก็ไม่ควรทานอาหารหนักมา เช่น กินหมูกระทะมาแล้วมาฟิตติ้ง ก็อาจจะไม่ย่อยหรือย่อยไม่ทัน พอทำไบค์ฟิตให้ก้มก็อาจจะติดพุงก้มไม่ลง ก็ทำให้ผลออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

ส่วนต่อไปที่ต้องเตรียมคือเรื่องของอุปกรณ์ คืออุปกรณ์การปั่นปกติที่เราใช้ปั่นในชีวิตประจำวัน เช่น รองเท้า ถุงเท้า หมวก ชุดปั่น ถุงมือ ฯลฯ ให้เอามาให้หมด เพราะอาการปั่นไม่สบายบางกรณีอาจเกิดจากอุปกรณ์เหล่านี้ก็ได้ ไม่ได้เกิดจากระยะตัวรถจักรยานอย่างเดียว เช่น อาการมือชา บางทีอาจมาจากถุงมือที่เราใส่นั้นมันบีบมือเราเกินไปก็ได้ โดยเฉพาะคนใช้ถุงมือเจล ควรเตรียมไปด้วยตอนทำฟิตติ้งมากๆ “ถามว่าถุงมือเจลมันดีหรือไม่ดี? ถุงมือเจลมันอาจจะดีแต่สำหรับบางคนมันอาจเป็นตัวปัญหา คือในระดับจิตสำนึกธรรมชาติของคนเรามันไม่ได้ชอบให้มีอะไรนูนๆ หนาๆ มากดทับจุดต่างๆ อยู่แล้ว พอบางทีใช้ถุงมือเจลมันอาจไปกดทับนานเข้ามันก็ชา บางทีก็อาจจะทำให้เราจับไม่ค่อยอยู่ กล้ามเนื้อบางมัดมันอาจเกร็งโดยที่เราไม่รู้ตัว”

บางคนเคยอ่านคอนเทนต์อาจจะเคยได้ยินว่าบางเคสอาจจะต้องส่งไปทำกายภาพบำบัด งั้นเราต้องไปตรวจร่างกายก่อนหรือเปล่าต้องบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำการตรวจร่างกายอะไรมาก่อน เพราะว่าไบค์ฟิตเตอร์ทุกคนมีพื้นฐานการตรวจร่างกายอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อพบปัญหาขึ้นมาก็จะจบที่การทำไบค์ฟิตเลย ก็ไม่ใช่ เพราะบางคนมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคลที่ต่างกันออกไป บางคนอาจเป็นปัญหาของตัวเองโดยตรงที่ไม่เกี่ยวกับการปั่นจักรยานเลย หรือ บางคนอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรามีโรคประจำตัว เช่น เป็นเก๊าท์ โรครูมาตอยด์ บางทีปั่นจักรยานแล้วปวดข้อปวดไม่รู้ตัว มารู้สึกอีกทีตอนปั่นจบ ไบค์ฟิตเตอร์ก็ต้องดูอาการหรือโรคเหล่านี้ประกอบอีก บางเคสร่างกายอาจดูปกติเราเซ็ตรถออกมาตามตำแหน่งที่เหมาะสมแล้วแต่คนปั่นดันมีอาการไม่ปกติ ก็ต้องไปดูอีกว่าอาจเป็นในเรื่องพื้นฐานด้านร่างกายที่เป็นมาตั้งแต่อดีตหรือเป็นมานานแล้วแต่เขาไม่รู้หรือไม่ได้สนใจหรือเปล่า เช่น เคสที่สะบ้าเข่าไม่ดีในอดีตเคยเล่นบาสแล้วล้มแรงๆ ตั้งแต่เด็กและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี พอกระดูกหรือจุดที่ล้มนั้นมันมีปัญหาไปนานๆ ร่างกายก็พยายามซ่อมแทรมแต่นานเข้ามันอาจเป็นพังผืด พอเราใช้งานเข่าและขาหนักเข้าก็จะรู้สึกได้ว่า ขัดๆ ปวดๆ เจ็บเสียวแปล๊บๆ มารู้อีกทีก็ตอนมาทำไบค์ฟิตแล้วแบบนี้ก็มี ถ้าเป็นแบบนี้คือต้องส่งไปหาหมอ หานักกายภาพบำบัดอย่างเดียวเลย ทำไบค์ฟิตไม่ได้จบทุกอย่าง นี่คือในเรื่องปัญหาพื้นฐานร่างกายที่เป็นมานานแล้วที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

หลายคนอาจเคยได้ยินว่าปั่นจักรยานก็ต้องออกกำลังกายเสริมด้วย แล้วก่อนมาทำไบค์ฟิตควรออกกำลังกายเสริมไหม? ลองคิดประมาณว่าสมมติเดือนหน้าเราจะปั่นจริงจังไม่ปั่นเล่นๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีการฟิตร่างกายให้พร้อมกับการปั่นถูกไหม? ก็เหมือนกับการมาฟิตติ้ง คือก่อนทำต้องมีการตรวจร่างกายวอร์มร่างกายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอาจต้องการเตรียมตัวออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงแกนลำตัวร่างกายท่อนบน เช่น วิดพื้น ท่าแพลงก์ต่างๆ ซิทอัพ ท่าที่คลายกล้ามเนื้อให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่น ท่าบริหารร่างกายท่อนบน แรกๆ อาจจะแบ่งเซ็ตละ 40 วินาทีก่อนแล้วค่อยเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อยๆ ดีที่สุดสำหรับนักปั่นจักรยานคือเล่นโยคะ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามามันเป็นสิ่งพื้นฐานที่นักกีฬาจักรยานนั้นต้องทำกันอยู่แล้ว

แต่ทำไมเราถึงเน้นแกนลำตัวท่อนบนกันมากนักในหลายๆ คอนเทนต์ที่ผ่านมาเราก็พูดถึงในจุดนี้ คือ ระดับนักกีฬาบางคนแข็งแรงแค่ท่อนล่างท่อนบนไม่แข็งแรงก็มี เล่นบริหารแต่ยืดกล้ามเนื้อ ถ้าหากยืดไปอย่างไม่ถูกวิธีก็ไม่เห็นผล เป็นเดือนก็ไม่เห็นผล “ออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงแกนลำตัวร่างกายท่อนบนเห็นผลดีที่สุดแล้ว 2 อาทิตย์เห็นผลเลย” ขาแข็งแรงอย่างเดียวไม่ได้แกนลำตัวท่อนบนต้องแข็งแรงด้วยไม่งั้นก็อาจจะยังมีปัญหาเดิมๆ กลับมาอยู่ดี แรงไม่สัมพันธ์กันการปรับรถอาจไม่ได้ประสิทธิภาพตามเป้าที่ต้องการก็เป็นได้

แนะนำว่าการเตรียมตัวให้คิดก่อนเลยว่าเป้าหมายของเราคืออะไร มีปัญหาอะไรบ้าง มีอะไรบอกให้หมด เพราะหน้าที่ฟิตเตอร์คือการแก้ปัญหาและปรับรถเพื่อซัพพอร์ทเป้าหมายการปั่นให้ดีที่สุด การปรับรถก็เปลี่ยนไปตามเป้าหมายในการปั่นด้วยเพราะฉะนั้นกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น ปั่น TT รู้สึกว่าปั่นดีแล้วแต่อยากปั่นได้เร็วกว่าเดิม เป็นต้น บางคนมาทำไบค์ฟิตอาจจะเข้าใจได้ว่ามาทำเพื่อแก้ปัญหาอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วแค่เป้าหมายในเรื่องความสวยงามของรถก็เป็นโจทย์ปัญหาให้ฟิตเตอร์ทำได้ เช่น อยากเซ็ตรถแบบโปร สเต็มยาว รถสวย แต่อยากปั่นสบายด้วย ก็เป็นเป้าที่เราอยากได้และให้ไบค์ฟิตเตอร์ได้แก้ปัญหา ให้คำแนะนำ และเซ็ตรถให้เราได้

ในเรื่องออกกำลังกายเสริมถ้าหากจะบอกเป็นรายคนได้ว่าควรออกกำลังกายส่วนไหนเพิ่มคือต้องให้ไบค์ฟิตเตอร์ประเมินร่างกายก่อนจึงจะรู้ว่าตรงไหนคือจุดอ่อนจุดแข็งของนักปั่น ก็จะสามารถบอกได้ว่าตรงไหนเพียงพอแล้ว ตรงไหนควรออกกำลังกายตรงไหนเพิ่ม ในส่วนของจักรยานก็จะมีไม่กี่อย่างที่ควรออกกำลังกายเสริม ท่าที่ออกกำลังกายก็เหมือนที่พูดไปข้างต้น “อย่างน้อยๆ ถ้าหากไม่มีเวลาหรือบางคนขี้เกียจก็ขอแค่วิดพื้นกับแพลงก์ก็ยังดี การออกกำลังกายเสริมส่วนต่างๆ ยิ่งทำสม่ำเสมอมันก็จะยิ่งเป็นผลดีกับตัวเรา” ก่อนที่จะไปทำไบค์ฟิตก็ควรออกกำลังกายพื้นฐานสำหรับนักปั่นก่อนดีที่สุด แต่ถ้าถามว่าเราพอจะประเมินเองได้ไหม ก็มีวิธีสังเกตอยู่ เช่น เราตั้งเป้าแพลงก์ 1 นาที เราทำได้ถึงไหม ถ้า 30 วิเริ่มสั่น ก็แปลว่าเราควรฝึกฝนเพิ่ม เพียงเท่านี้เราก็รู้ได้แล้วว่าเราควรทำเสริมไหม แต่ถ้าหากไปทำไบค์ฟิตแล้วฟิตเตอร์ประเมิณผลว่าควรทำท่าไหนเพิ่ม กลับมาทำแล้วอย่าลืมจดไว้ว่ามีผลอย่างไร เพื่อที่ว่าเวลามาตามผลแล้วจะได้แก้ไขปัญหากันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ปัญหาบางอย่างมันแก้ครั้งเดียวจบ แต่ปัญหาบางอย่างมันไม่จบก็ต้องมาดูกัน” ระยะเวลาในการทำไบค์ฟิตประมาณ 2-4 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับปัญหาของนักปั่น แล้วจะมีการนัดตามผลกันอีกทีหลังจาก 4-6 สัปดาห์ ก็จะดูผลตอบรับว่าเป็นยังไงแล้วมาลองปรับแก้กันต่อไปให้ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คนที่ไม่เคยทำไบค์ฟิตก็จะมีข้อสงสัยว่า “ต้องมีความจำเป็นขนาดไหนถึงต้องทำไบค์ฟิต เมื่อไหร่ที่เราควรทำไบค์ฟิต” บางคนก็บอกว่าไม่จำเป็นต้องทำไบค์ฟิตเพราะว่าปั่นได้อยุ่แล้ว แต่ว่าการทำไบค์ฟิตมีความสำคัญเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกได้ว่าต้องทำคือต้องสังเกตตัวเองให้ได้ก่อน เช่น ถ้าเป็นเคสนักปั่น เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่าร่างกายเราเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเราจะรู้สึกได้ว่าตำแหน่งเดิมที่เราปั่นมันมีอะไรที่เพิ่มเติมได้แต่เราหาจุดนั้นไม่เจอ นั่นแหละเราจึงไปทำไบค์ฟิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปั่นของเรา ให้ฟิตเตอร์ช่วยหาจุดนั้นและเสริมจุดนั้นให้ดีและตรงวัตถุประสงค์ หรือ ถ้ามีปัญหาแล้วเราลองแก้เองแต่แก้ยังไงก็แก้ไม่ได้ก็ไปทำไบค์ฟิตดีกว่า มีปัญหากับการปั่น อยากปั่นดีขึ้น ก็ทำไบค์ฟิตเลยจบที่สุด

ไบค์ฟิตเตอร์ทุกคนถ้าตรวจเจอบางอาการแล้วก็อาจจะต้องส่งเคสไปให้นักกายภาพบำบัดบ้าง หมอบ้าง จึงมีข้อสงสัยว่าทำไมบางอาการมาทำไบค์ฟิตแต่แก้ไม่ได้ต้องทำกายภาพบำบัด ตรงต้องบอกก่อนว่างานไบค์ฟิตเตอร์มันไม่ได้จบที่ไบค์ฟิตอย่างเดียว เคสที่ทำแล้วแก้ไม่ได้ต้องส่งไปกายภาพบำบัดนั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลโดยตรง อย่างเช่น มีอาการบาดเจ็บ ก็ต้องให้นักกายภาพและหมอดูด้วย คราวนี้ก็มาลงเอยในจุดที่ว่า ควรไปหาใครก่อนดีหลังจากตรวจพบอาการจากการทำไบค์ฟิต ถ้าคุยกับหมอก็จะบอกรักษากับหมอก่อน ถ้าคุยกับนักกายภาพเขาก็จะบอกให้ทำกายภาพ สรุปแล้วเราควรไปที่ไหนดี? คำตอบคือ ไปไหนก่อนก็ได้ที่สะดวกที่สุด หากไปกายภาพบำบัดผลออกมาว่าทำไปแล้วระยะยาวมันไม่หาย อันนี้ไปหาหมอได้เลย แนะนำว่าก่อนจะมาฟิตติ้งก็ควรทำการบ้านกับตัวเองให้เยอะที่สุดว่าเป้าหมายคืออะไร มีปัญหาอะไร แล้วให้เราหาไบค์ฟิตที่มีคุณภาพเพื่อผลที่ดีที่สุดของตัวเราเองครับ ทั้งหมดนี้ก็คือเคสและข้อแนะนำในด้านการเตรียมความพร้อมจาก Bike Fitter