พาร์ทที่แล้วเราพูดถึงในเรื่องของการเลือกใบจานและอัตราทดเกียร์กันไปแล้วนะครับว่าทำไมถึงต้องเลือกให้เหมาะสม มาถึงในเรื่องของความยาวขาจานบ้างซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับใบจานและผู้ปั่นพอสมควร มันมีอะไรเกี่ยวข้องบ้างเราจะมาต่อกันในพาร์ทที่ 2 นี้แน่นอนว่าก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าใบจานกับอัตราทดเกียร์เลย ซึ่งพี่เจ๋ Professional Bike Fitter ได้บอกว่า

หลายคนยังมีความเข้าใจที่ผิดอยู่นิดหน่อยว่าขาจานที่มีความยาว มันจะสามารถทำค่า Torque Effectiveness (ประสิทธิภาพของแรงบิดในการปั่น) ได้มากกว่าขาจานที่สั้นกว่า ซึ่งมันจริงในระดับหนึ่ง แต่มันไม่มีผลกับ Power ในการออกแรงถีบ เพราะว่ากรณีที่ขาจานยาวมันสามารถทำค่า Torque Effectiveness ได้เยอะกว่า แต่วงรอบในการเคลื่อนที่ของเท้าเรามันก็เยอะขึ้นเช่นกัน ถ้าจะรักษารอบขาให้ได้เท่ากับขาจานที่มีความสั้นก็จะต้องพยายามให้ขาเราเคลื่อนที่เร็วขึ้น “เพราะฉะนั้นเวลาเลือกขาจาน กรณีคนที่จะเลือกขาจานยาวๆ ไว้ก่อนแล้วบอกว่ามันออกแรงกดได้ดี อันนี้มันไม่จริง” เพราะว่ามันมีการพิสูจน์มาหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า “ความสั้นยาวของขาจานไม่ได้มีผลต่อ Power” แต่ถ้าเป็นคนที่หน่วยก้านดีๆ เช่นนักกีฬา ถ้าเลือกขาจานที่ยาวที่สุดเท่าที่จะใช้ได้อันนี้แนะนำ

คราวนี้มาดูในกรณีที่เราทำ Bike Fit เลือกความยาวขาจานควรเลือกจากอะไร? ให้เริ่มจากความสบายของผู้ปั่นเป็นหลักโดยดูจากความยาวของท่อนขาและดูในขณะที่ปั่นว่าขามีการเหยียดหรืองอแค่ไหน ในส่วนของคนตัวเล็กๆ หรือคนที่ความยืดหยุ่นไม่เยอะ ก็แนะนำให้ใช้ขาจานสั้นๆ ดีกว่า เช่นขาจานที่มีความยาว 165 มม. ทุกวันนี้ขาจานที่เราหาได้ตามท้องตลาดก็จะมีตั้งแต่ความยาว 145, 150, 155, 160, 165, 167.5, 170, 172.5, 175, 177.5 มม. ความยาวก็มีหมดแล้วไม่ได้หายากเย็นเหมือนแต่ก่อน ปัญหาของคนตัวเล็กแล้วปั่นไม่สบายก็จะหมดไป คนตัวสูงๆ ก็จะต้องใช้ขาจานที่มีความยาว ไม่สั้นเกินไป เช่น 172.5 มม.

เรื่องที่สองในการเลือกความยาวขาจานก็ต้องดูเรื่องของปัญหาของผู้ปั่นจักรยาน อย่างเช่น ผู้ปั่นมีปัญหาในเรื่องอาการเจ็บเข่าไหม เรื่องกล้ามเนื้อต้นขาและหลังต้นขาที่ตึงไหม มีปัญหาปวดหลังหรือปวดก้นในขณะปั่นไหม เพราะในกรณีที่ใช้ขาจานความยาวมากๆ มันก็ส่งผลต่อกล้ามเนื้อที่มันโดนดึงขึ้นมาเยอะในขณะที่เราออกแรงถีบและดึงขาจานตอนปั่นเหมือนกัน ถ้าหากว่าคนตัวเล็กๆ แต่ไปใช้ขาจานที่มีความยาวมากๆ ถึงเราจะปรับเบาะลงให้ปั่นสบายขึ้นแล้ว แต่มันไม่ได้แก้ไขอาการได้ถาวร กรณีนี้ถ้าปั่นไปสักพักนึงจะรู้สึกปวดต้นขาหรือสะบ้าเข่าเพราะเวลาจังหวะที่เรางอขาขึ้นมาเข่ามันจะงอเยอะเกินไป ในกรณีที่คนที่ตัวสูงๆ แล้วไปใช้ขาจานที่สั้นๆ ก็จะรู้สึกเหมือนว่าเรากระทืบบันไดจักรยานแล้วรถจักรยานมันไม่พุ่งไป ก็จะตื้อๆ ถ้านึกภาพไม่ออกก็ลองนึกถึงคนที่สูงๆ ขายาวๆ กับคนที่ตัวเล็กๆ ขาสั้นๆ วิ่งแข่งกัน แน่นอนคนขายาวก้าวได้ยาวแล้วไปได้ไวกว่าคนขาสั้น แต่ถ้าคนขายาวไม่วิ่งแต่กลับเดินหรือแบบเดินซอยเท้าไวๆ แข่งกับคนขาสั้น ทั้งๆ ที่คนขาสั้นวิ่งสุดแรงเกิดเลย คนขายาวก็ไม่มีทางชนะได้ เพราะฉะนั้นคนที่ขายาวก็จะเลือกขาจานที่ยาวๆ ได้เพื่อให้ส่งแรงได้เต็มที่ในการปั่น สรุปความยาวขาจานก็จะมีเรื่องหลักๆ ในการเลือก คือ ลักษณะทางกายภาพของคน ความยืดหยุ่นของคน และ ปัญหาของคนปั่นจักรยาน

แต่เรื่องขาจานมันก็ไม่ได้ตายตัวว่าคนสูงต้องปั่นขาจานยาวหรือคนตัวเล็กต้องใช้ขาจานสั้น ขึ้นอยู่กับผู้ปั่นนั้นปั่นได้หรือเปล่า เช่น กรณีเรื่องของปัญหาผู้ปั่น คือ มีปัญหาในการปั่นจักรยานเยอะมาก เช่น กล้ามเนื้อต้นขาที่ตึงมาก หรือมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อมัดข้างต้นขาจากข้างๆ ก้นขึ้นไปถึงเข่า บางทีกล้ามเนื้อมัดตรงนี้มันทำให้บางคนไปใช้ขาจานที่ยาวแล้วปั่นไม่สบายได้เช่นกันถึงแม้มันอาจจะเหมาะสมกับความสูงของตัวเองก็ตาม การรู้ปัญหาในการปั่นจักรยานเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้เพราะวัตถุประสงค์ของการทำ Bike Fit คือต้องให้ผู้ปั่นสบายและปั่นจักรยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักปั่นที่ปั่นเพื่อออกกำลังกายก็อย่าไปอิงกับนักปั่นที่อยู่ในระดับแข่งขันมาก บางทีเราจะเห็นว่าเขาตัวสูงแต่ใช้ขาจานสั้น ที่เขาทำแบบนั้นได้เพราะร่างกายเข้ามีพื้นฐานดีและมันมีผลต่อการแข่งขัน การใช้ขาจานสั้นมันมีผลต่อความ Aero Dynamic หรือความลู่ลม และมันสามารถช่วยให้ปั่นสบายหรือเซฟกล้ามเนื้อในขณะที่ปั่นได้ดีกว่าเพื่อที่จะปั่นได้เรื่อยๆ ในระยะทางยาวๆ บางทีคนปั่นคนเดียวกันแต่แข่งคนละประเภท วันนึงปั่นจักรยานเสือหมอบใช้ขาจานความยาว 175 มม. แต่พอเขามาแข่งไตรกีฬา เขาเปลี่ยนมาใช้ขาจานยาว 170 หรือ 172.5 มม. ก็มี เพราะว่ามันช่วยให้เค้าเซฟกล้ามเนื้อของเขาได้ดีและทำให้เขาสามารถปั่นต่อได้เรื่อยๆ แล้วไปวิ่ง หรือ ว่ายน้ำต่อได้อีก นี่จึงเป็นเหตุผลที่บอกว่าเรื่องความยาวขาจานไม่ได้ตายตัว ขึ้นอยู่กับผู้ปั่นแต่ละคนล้วนๆ “ขาจานที่สั้นเกินไป มีผลเสียมากกว่าขาจานที่ยาวเกินไป”

บางกรณีแปลกๆ ต้องใช้ขาจานสั้นข้างยาวข้างก็มีแต่ไม่ค่อยนิยม ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีแก้โดยการไปรองส่วนใต้คลีท กรณีนี้มันเป็นในเรื่องของคนที่มีความยาวขาต่างกัน เช่น ขาเคยหักมา เคยขาท่อนล่างหัก สะโพกข้างใดข้างนึงเคยแตกมา ทำให้การเคลื่อนไหวของแต่ละขามันไม่เหมือนกัน ข้างที่มีปัญหาก็จะใช้ขาจานสั้นกว่า แต่ก็ต้องดูเป็นกรณีไปว่าแบบไหนง่ายกว่าระหว่างการรอง Spacer ทำให้คลีทหนาขึ้นหรือใช้ขาจานสั้นข้างยาวข้าง เพราะเราต้องการให้ขาข้างนึงมันสบายขึ้น แต่การรอง Spacer สูงขึ้นมันทำให้การปั่นมีความ Stable หรือ ความนิ่งของเท้าและขา น้อยลง แต่ถ้าคนปกติใช้สั้นข้างยาวข้างมันจะทำให้ขาข้างนึงมันอั้นแรงส่งแรงไม่สุด ส่งแรงไม่เท่ากันทั้งสองขาก็คือ LR Balance ไม่เท่ากัน ปั่นไม่มีประสิทธิภาพ

ถ้าสมมุติว่าเคยใช้ขาจาน 175 มม. แต่สักวันนึงเปลี่ยนมาใช้ ขาจาน 165 มม. หรือ 170 มม. ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น “ก็จะสบายกว่าเก่า แต่ถ้ารู้สึกซิ่งน้อยลงก็จะต้องปรับเรื่องอัตราทดเกียร์นิดนึง” แต่ว่ามันก็จะมีผลต่อการปรับตำแหน่งเดินหน้าถอยหลังหรือความสูงของเบาะด้วย ถ้าอยากทำลองด้วยตัวเองก็มีทริคง่ายๆ คือ ใช้ขาจานสั้นลงเท่าไหร่เอาเบาะสูงขึ้นเท่านั้น เช่น ปกติใช้ขาจานยาว 172.5 มม. แล้วเปลี่ยนมาใช้ขาจาน 170 มม. ก็ไปปรับความสูงเบาะขึ้นมา 2.5 มม. เพื่อให้ขาเราไม่งอจนเกินไปมันก็จะปั่นสบายและชินกับการควงขา

สุดท้ายนี้พี่เจ๋ Professional Bike Fitter ได้ฝากถึงการเลือกขาจานและใบจานอย่างเหมาะสมไว้ว่า อยากให้เลือกใบจานกับขาจานให้มันเหมาะสมกับตัวเองจะดีกว่า อย่าไปสนใจว่าจะต้องเลือกเป็นรุ่นท็อป ต้องเป็นวัสดุคาร์บอนเบาๆ หรือ ทำออกมาแบบมีความลู่ลมสูง เพราะบางคนเห็นขาจานสั้นๆ ก็รู้ว่าเหมาะสมกับตัวเองแต่ใจอยากได้สิ่งที่มันดูแพงและดีกว่าแต่มันไม่มีขนาดที่ตรงกับตัวเราก็จะรู้สึกปั่นไม่สบายไปเองเลยแล้วจะไปใช้ขาจานรุ่นท็อปๆ แต่ไม่มีความยาวที่เหมาะสมกับตัวเรา อย่าคิดแบบนั้น อย่าตั้งธงไว้ก่อนที่จะหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเราได้ เพราะข้อดีในการใช้สิ่งที่เหมาะสมมันจะทำให้เราสนุกกับการปั่นจักรยานได้มากขึ้น ปั่นได้ดีขึ้น ลดอาการบาดเจ็บได้ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าหากมีอาการบาดเจ็บก็อย่าลืมที่จะไปรักษาหรือทำกายภาพบำบัดประกอบด้วย ถ้ารู้ว่าขามันพังอยู่ก็ต้องซ่อมที่ขาตัวเองด้วยไม่ใช่แก้ที่อุปกรณ์อย่างเดียว เปลี่ยนอุปกรณ์มันก็ดี แต่ถ้าเราแก้ที่ต้นเหตุจริงๆ มันจะส่งผลดีในระยะยาวกับตัวผู้ปั่นมากกว่าครับ