นักปั่นหลายคนที่ชอบดูรายการแข่งจักรยานก็คงจะอดใจไม่ได้เลยที่จะอยากเซ็ตตำแหน่งต่างๆ ของจักรยานให้สวยเหมือนที่นักแข่งใช้ปั่นกัน แต่ความเป็นจริงแล้วการเซ็ตรถแบบโปรที่แข่งขันกันมันอาจจะไม่เหมาะกับนักปั่นทั่วไปก็ได้ วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์และคำแนะนำจาก พี่เจ๋ Professional Bike fitter มาให้อ่านกันครับ

พี่เจ๋ได้บอกว่า สิ่งที่เหมือนกันสำหรับนักจักรยานมืออาชีพกับนักปั่นทั่วไป คือ “ความสบายและประสิทธิภาพในการปั่น” แต่เหตุผลที่ทำให้การเซ็ตรถนั้นมีความแตกต่างคือนักกีฬามืออาชีพหรือโปรเนี่ยเค้าจะมีอะไรที่พิเศษบางอย่างทำให้การเซ็ตรถของเขา “เอาความสบายเป็นรองก็ได้ แต่เอาประสิทธิภาพเป็นหลัก”

“นักปั่นจักรยานมืออาชีพ” หรือ “โปรจักรยาน” เค้าจะมีความถนัดเฉพาะตัว ยกตัวอย่างเช่นวงขา การควงขา หรือการวางตำแหน่งตัวที่เค้ารู้สึกว่าเค้าโอเคกับจุดนั้น ซึ่งบางครั้งถ้าหากว่าเราไปปรับเปลี่ยนอะไรตรงจุดนั้นหรือเปลี่ยนมากไปมันอาจจะทำให้เค้าขาดความมั่นใจในการปั่น เค้าก็จะพยายามทำทุกอย่างให้มันกลับไปสู่ตำแหน่งเดิมที่เค้าถนัดและรู้สึกโอเค กรณีที่เค้ามีความถนัดเฉพาะตัวเราก็ไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนอะไรเค้ามากเลยเพียงแค่เราซัพพอร์ทเค้าให้ได้มากที่สุดสบายสุดมีประสิทธิภาพที่สุดก็พอ แต่กลับกันถ้าเป็นในกรณีที่เป็นนักปั่นทั่วไปหรือนักปั่นที่พึ่งเริ่มปั่นใหม่ๆ อายุการปั่นไม่ถึงปีอันนี้ฟิตเตอร์ก็สามารถปรับเปลี่ยนอะไรเค้าได้เพราะเราต้องปรับให้คนที่มาฟิตติ้งนั้นปั่นแล้วสบายที่สุดให้ผลที่ดีกับนักปั่นที่สุด

ถ้าเป็นโปรจริงๆ ที่แข่งเป็นอาชีพความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของร่างกายจะต่างจากคนทั่วไป ความยืดหยุ่นจะมีเยอะและมีความแข็งแรงของแกนลำตัวท่อนบนสูง ทำให้ตำแหน่งของการเซ็ตรถมันเซ็ตได้ลู่ลมกว่าและออกแรงกดบันไดในการปั่นได้ดีกว่า จึงเซ็ตให้ออกมาได้ลู่ลม (แอร์โร่ไดนามิค) ที่สุดและสบายที่สุดในท่าเดียวกัน

แต่ถ้าเซ็ตให้นักปั่นทั่วไปก็ต้องดูที่เป้าหมายในการปั่นของบุคคลก่อน ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องเซ็ตให้สบายที่สุดดีกว่าไปเซ็ตให้มีความแอร์โร่แบบโปร เพราะบางทีการที่ใช้สเต็มยาวเกินไปหรือทำอะไรมากไปเพื่อให้มันเกิดความแอร์โร่ สำหรับนักปั่นทั่วไปแล้วปั่นบนเทรนเนอร์ 15 นาที มันปั่นได้ แต่พอไปอยู่บนจักรยานจริงๆ ปั่นข้างนอกจริงๆ มันปั่นได้ไม่นาน ปั่นไม่สนุก ปั่นไปแป๊บๆ จะรู้สึกปั่นไม่ออก คือมันจะทรมานมากๆ ก่อนจะเซ็ตรถให้นักปั่นทั่วไปให้สบายที่สุดได้ก็ต้องดูหลายๆ อย่างก่อนสอบถามก่อนว่าปกติปั่นระยะทางเท่าไหร่ ดูพื้นฐานความแข็งแรงของตัวบุคคลก่อนด้วยการเทสการออกกำลังกาย

ตำแหน่งในการเซ็ตรถให้โปรที่เคยเซ็ตมาก็ต้องพยายามเน้นตำแหน่งการนั่งและการลงน้ำหนักที่บันไดจักรยานก่อน เซ็ตให้การลงน้ำหนักที่บันไดมันลงได้เต็มที่ การที่เราใช้กล้ามเนื้อขาในการถีบบันไดเพื่อให้จักรยานมันปั่นแล้วพุ่งออกไปมันไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อแค่ตรงขาอย่างเดียว แต่มันใช้ครบทุกส่วนตั้งแต่หลังส่วนล่าง ก้น หน้าขาส่วนบน หลังต้นขาส่วนบน น่อง ใช้ครบทั้งขาเลย เพราะว่าบางกรณีอย่างเช่นเซ็ตตำแหน่งเบาะที่ว่าโอเคแล้ว แต่บางทีมันอาจจะมีการใช้หน้าขาเยอะเกินไปในการออกแรงก็มี หากใช้กล้ามเนื้อขาส่วนบนตึงปึ๊บมันก็ไปดึงเอ็นทำให้เอ็นอักเสบได้อีก เอ็นไขว้เข่าบ้างบางทีปั่นๆ อยู่ก็ปวดเข่าได้ ทำให้ต้องเน้นเรื่องตำแหน่งเบาะตำที่ดีเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้โพซิชั่นที่เหมาะสมที่สุดมีประสิทธิภาพที่สุด

พี่เจ๋บอกว่า “ที่บอกเรื่องเซ็ตรถแบบโปรก่อนเพราะมีนักปั่นทั่วไปมาฟิตติ้งแล้วขอเซ็ตรถจักรยานแบบโปรเยอะมากๆ ฮ่าๆ” แต่ถ้าถามว่าพึ่งเริ่มปั่นได้ไม่นานหรือไม่ได้ปั่นจริงจัง แล้วอยากเซ็ตรถแบบโปรได้ไหม? ก็ต้องบอกว่าต้องมาลองฟิตติ้งดูก่อน ได้ไม่ได้ก็อีกเรื่อง เพราะพื้นฐานร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน สมมุติมีนักปั่นคนนึงพึ่งปั่นได้ประมาณ 4-5 เดือน ไม่เคยออกกำลังกายเสริมเลย ไม่เคยวิดพื้น ไม่เคยเข้าฟิตเนส ไม่เคยแพลงกิ้งเลย แต่บอกว่าอยากปั่นแบบนักปั่นมืออาชีพอยากปั่นแบบโปรทีมนี้ อยากเซ็ตรถไต่เขาสวยๆ แบบนี้ ถามว่าได้ไหม? ก็เซ็ตให้ได้นะ! แต่… “คุณต้องไปออกกำลังกายเสริมหลายอย่างเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงทุกส่วน ไม่งั้นเซ็ตไปให้ก็ปั่นไม่ได้ ฮ่าๆ” การเซ็ตจักรยานแบบโปรเค้าจะเซ็ตรถแบบก้มๆ เอื้อมๆ แต่มันสมเหตุสมผลที่ปรับแบบนั้นเพราะความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของเค้าสูง แต่นักปั่นจักรยานที่มาทำฟิตติ้งบางคนที่รีเควสมาว่าอยากเซ็ตแบบโปรแล้วจะไปออกกำลังกายเพิ่มสร้างความยืดหยุ่นความแข็งแรงเอง เอาเข้าจริงพอเซ็ตไปแล้วปั่นร้อยกิโลปรากฏว่าปวดต้นคอ ปวดหลัง เมื่อย ปั่นได้ไม่เยอะ ไม่เต็ม ที่ไม่สนุก ปั่นได้แค่สามวันต้องพักแล้ว เรียบร้อยครับกลับมาแก้ท่ากันใหม่เลยท่าที่เซ็ตไปให้ไม่ส่งผลดีต่อตัวนักปั่นแน่นอน

อย่างที่บอกไปในหลายๆ ครั้งที่สัมภาษณ์ ว่า “การฟิตติ้งคือการเซ็ตรถเข้ากับผู้ปั่นให้ปั่นสนุกและสบายที่สุด” พอมาตามผลฟิตเตอร์ทุกคนเค้าดูภาษาของร่างกายออก นักปั่นไม่สามารถโกหกไบค์ฟิตเตอร์ได้แน่นอนว่าที่เซ็ตแบบโปรให้ไปนั้นมันดี พื้นฐานร่างกายของคนมันต่างกันและมันลึกซึ้งมาก เมื่อเราปรับไม่เข้ากับร่างกายจริงๆ เราสามารถสังเกตุแค่ภาษาร่างกายเราก็รู้ได้แล้ว ร่างกายคนเรามันจะมีอะไรที่ระดับจิตใต้สำนึกของเราไม่ได้คิดและแสดงออกมา คือตอนปั่นสังเกตุได้เลยว่าปั่นแล้วร่างกายเรามันจะพยายามเลื่อนตัวหาจุดที่มันสมดุลๆ เอง นั่นแหละร่างกายมันบ่งบอกได้แล้วว่าคุณปั่นไม่สบายและตำแหน่งที่นั่งอยู่มันไม่ใช่โพวิชั่นที่เหมาะสม ซึ่งถ้ามาบอกไบค์ฟิตเตอร์ว่าอยากเซ็ตรถแบบโปรนักแข่งอย่างแรกเลยต้องให้วิดพื้นให้ได้ก่อน 30 ครั้ง สัก 3 รอบ ถ้ารอบแรกมาถึงวิดได้เลย 15 ครั้งติดโดยที่ไม่หยุดพัก แขนไม่สั่น ลำตัวนิ่ง ก็มีโอกาสที่จะเซ็ตรถแบบโปรได้ แต่ถ้าวิดไปแล้วแขนเริ่มสั่นแล้วดูท่าจะไม่ไหวก็แนะนำว่าอย่าเซ็ตแบบโปรเลยจะดีกว่า เพราะเซ็ตไปก็ปั่นไม่ได้นาน ปั่นไม่สนุกเพราะความแข็งแรงไม่เพียงพอ

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนแน่ๆ สำหรับนักปั่นทั่วไปที่เซ็ตรถแบบโปรโดยที่ไม่แข็งแรงพอ คือปั่นแล้วไม่สบายเนื่องจากอย่างที่บอกไปว่าพวกโปรจะก้มๆ เอื้อมๆ แต่นักปั่นธรรมดาจะนั่งในท่าที่สบายที่สุดเพราะความแข็งแรงต่างกัน เพราะฉะนั้นเซ็ตรถแบบโปรอาการที่จะเจอแน่ๆ คือปวดก้นจากการเซ็ตเบาะที่ไม่ได้ตำแหน่งของเรา ปั่นไม่สบายเพราะอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ปวดต้นคอเพราะปรับเบาะสูงสเต็มต่ำทำให้ตัวหมอบเยอะแต่หน้าต้องเงยเพื่อมองทาง แสบขาหนีบเพราะว่าขาเสียดสีกับเบาะที่ไม่ได้ระยะ มือชาเพราะแรงที่ส่งไปกดตรงส่วนมือเยอะเกินไป ปวดหลังเพราะเซ็ตอานสูงทำให้ก้มเยอะ และที่ร้ายแรงที่สุดคือจะมีอาการปวดเมื่อยแบบเรื้อรัง ถ้าเซ็ตแล้วปั่นไม่ไหวแล้วยังฝืนไปเรื่อยๆ มันจะมีอาการปวดเรื้อรังแล้วเราก็จะปั่นไม่ได้หรือปั่นได้น้อยมากวันสองวันก็ต้องหยุดแล้วซึ่งต้องไปพบนักกายภาพบำบัดเพื่อทำกายภาพถึงจะหายขาด

“ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าการเซ็ตรถแบบโปรไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้คุณนั้นปั่นดีขึ้น มันเป็นความคิดที่ผิด ไม่ได้หมายความว่าตัวเรานั้นปั่นไม่ดีเท่าโปรนะ แต่อย่างที่บอกว่าพื้นฐานทางร่างกายและความแข็งแรงมันต่างกันตัวเราที่เซ็ตรถให้เข้ากับตัวเราเองอาจจะปั่นได้ดีและมีประสิทธิภาพกว่าเซ็ตรถแบบโปรอีกด้วยซ้ำ”

การปรับรถทุกส่วนมีผลสัมพันธ์กันทั้งสิ้นต่ออาการที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้ปั่น บางครั้งการเซ็ตรถแบบโปรในส่วนสเต็มให้เอื้อมเยอะๆ แล้วมันมีอาการปวดหลัง มันสามารถมาปรับชดเชยด้วยการปรับเบาะก็จริง อาการปวดหลังอาจจะดีขึ้นหรือหายไปเลยก็ได้แต่มันอาจจะมีผลกระทบบางอย่างไปเกิดกับจุดอื่นแทน เช่น ปวดก้น เป็นต้น อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าการปรับจักรยานมันมีความสัมพันธ์กันในทุกๆ ส่วนอยู่แล้ว ยกตัวอย่างอีกกรณีคือสมมุติว่ามีอาการปวดต้นคอปกติอาจจะคิดว่ามันเป็นเพราะสเต็มยาวไปหรือต่ำไป แต่เอาเข้าจริงแล้วมันอาจจะเกิดขึ้นจากการเซ็ตตำแหน่งเบาะก็ได้นะ เพราะฉะนั้นสำหรับนักปั่นทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานบนจักรยานแบบโปรก็พยายามเซ็ตรถให้อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดของเราจะดีกว่า

ถ้าอยากจะเซ็ตรถให้สวยแบบโปรแล้วอยากปั่นได้จริงๆ ต้องมีร่างกายที่แข็งแรงมาก เพราะฉะนั้นควรออกกำลังกายให้มาก ฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็กให้แข็งแรง ที่สำคัญคือพยายามเสริมความแข็งแรงในส่วนลำตัวท่อนบนด้วยไม่ใช่โฟกัสแต่ส่วนขา มันมีโอกาสที่เราจะปั่นจักรยานที่เซ็ตแบบโปรได้แต่มันขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของคุณเองเหมือนที่พูดไปตั้งแต่แรกๆ ต้องมีวินัยในการฝึกซ้อมและพัฒนาร่างกายตัวเอง แต่ถ้าหากอยากเซ็ตก็ลองเซ็ตดูได้ฟิตเตอร์หลายๆ คนก็ไม่ได้ห้าม คิดว่าลองเพื่อให้รู้ว่าเป็นยังไง แต่สุดท้ายแล้วนักปั่นธรรมดาก็อยากจะนั่งปั่นแบบที่สบายๆ แบบที่ดีที่สุดกับตัวเอง นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดีที่สุด