พี่ๆ ที่พึ่งเริ่มปั่นจักรยานนั้นอาจคิดว่าอาการปวดตามจุดต่างๆ ของร่างกาย คงเป็นเพราะว่าพึ่งเริ่มปั่นได้ไม่นานร่างกายเลยยังไม่ปรับตัวให้ชินกับการปั่นจักรยาน แต่เมื่อปั่นไปสักระยะแล้วกลับไม่เป็นอย่างนั้น อาการปวดนั้นไม่หายไปเลยหรืออาจมีอาการบาดเจ็บสะสมมากขึ้นด้วยซ้ำ จริงๆ แล้วอาการบาดเจ็บต่างๆ อาจไม่ได้เกิดจากการที่เราไม่ชินกับการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน แต่อาจเกิดขึ้นจากการที่เรานั้นปรับส่วนต่างๆ ของจักรยานไม่เข้ากับตัวผู้ปั่นเสียมากกว่า ผู้ปั่นจึงต้องมีการทำ Bike Fitting เพื่อแก้ปัญหานั้นๆ

เว็บไซต์ Stepextra ได้พูดถึงเรื่อง Fitting ไว้ว่า “ถ้าจะพูดไปการทำ Bike Fitting ก็เปรียบเสมือนการปรับจูนเครื่องยนต์ให้อยู่ในจุดที่ Optimum ที่สุด และ การทำ Bike Fitting ไม่ใช้ว่าทำครั้งเดียวเเล้วก็จบ ในการเริ่มต้นฝึกปั่นเเรกๆ จะมีการเซ็ต Position ของเราให้อยู่ในลักษณะที่อยู่ในท่าที่ปั่นสบายที่สุด เมื่อปั่นไปสักระยะก็เเนะนำให้กลับมา Fitting ใหม่ เพื่อปรับท่าของผู้ปั่นให้อยู่ในลักษณะท่าที่ปั่นสบายนั่นเอง”

Bike Fitting คือการปรับจักรยานให้เข้ากับตัวผู้ปั่นโดยจะวัดจากกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่น สัดส่วนต่างๆ ไซส์จักรยาน ส่วนต่างๆ ของจักรยาน ข้อมูลของจักรยานรุ่นนั้นๆ และข้อมูลทางการทดสอบร่างกายของผู้ปั่น เพื่อลดอาการบาดเจ็บจากการปั่นจักรยานและทำให้ปั่นจักรยานมีประสิทธิภาพมากขึ้นสนุกมากยิ่งขึ้นส่งกำลังไปที่จักรยานได้ดีขึ้น การที่จักรยานของเรานั้นไม่ได้ถูกปรับส่วนต่างๆ ให้เข้ากับเจ้าของนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บเพียงอย่างเดียว แต่ว่ามันจะทำให้เรานั้นปั่นไม่ออก ปั่นไม่สนุก ปั่นได้ไม่นาน อีกด้วย การทำ Bike Fitting จึงสำคัญสำหรับผู้ที่ปั่นจักรยานอย่างมาก โดยการแก้ไขในจุดต่างๆ นั้นนอกจากการ Fitting แล้ว ยังต้องมีอุปกรณ์เสริมสำหรับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย ซึ่งในแบรนด์ Bike Fit ก็มีอุปกรณ์ที่จะช่วยเสริมในจุดต่างๆ ของจักรยานเพื่อแก้อาการบาดเจ็บเหล่านั้นได้ วันนี้เราจะมาดูเรื่องของอาการบาดเจ็บในส่วนเท้าและขาก่อนซึ่งเป็นอาการที่เจอกันแทบทุกเคสในการ Fitting เลยก็ว่าได้

วีริศ ปัพพานนท์ (พี่เจ๋) Professional Bike Fitter ที่ได้ผ่านคอส Ftting ของ Retul  ได้บอกว่าการทำ Bike Fitting มันสามารถทำด้วยตัวเองได้บางอย่างเพียงต้องใช้เครื่องมือและความรู้พอสมควรเลย ส่วนในเรื่องอาการตามจริงแล้วต้องพูดว่ามันจะเรียกว่าอาการบาดเจ็บก็ไม่เชิงแต่อยากให้ทำความเข้าใจว่ามันคืออาการที่เราปั่นไม่สบายมากกว่า ซึ่งอาการปั่นไม่สบายเนี่ยก็เกิดจากการเซ็ตส่วนต่างๆ ไม่พอดีกับลักษณะทางกายภาพของผู้ปั่นคนนั้นๆ นั่นเอง มาพูดถึงในเรื่องที่เป็นส่วนของการส่งแรงก่อน คือ ส่วนเท้าและขา

อาการแรกที่เจอบ่อยก็จะมีในเรื่องของอาการปวดฝ่าเท้าด้านนอก (ฝั่งนิ้วก้อย) หรือด้านใน (ฝั่งนิ้วโป้ง) บางคนอาจจะรู้สึกร้อนๆ ใต้ฝ่าเท้าก็มี อาการนี้ก็จะเกิดจากการที่เราเซ็ตตำแหน่งคลีทที่ไม่พอดีและน้ำหนักที่ลงในฝ่าเท้าไม่เกิดการกระจาย จะต้องแก้ด้วยการตั้งคลีทให้อยู่ในแนวเดียวกับเข่าของเราอย่างถูกต้อง (หลังจากตั้งตำแหน่งเดินหน้าถอยหลังเสร็จเรียบร้อย) ซึ่งบางครั้งด้วยข้อจำกัดของคลีทบางยี่ห้อที่เลื่อนซ้ายขวาได้ไม่เยอะอาจทำให้ต้องมีการเสริมแผ่น Wedge ที่จะมีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกใส่เข้าไปในรองเท้าหรือหากไม่อยากใส่ภายในรองเท้าก็เสริมไปในใต้คลีทได้ พูดถึงในเรื่องของอาการข้างต้นมันเป็นเพราะส่วนใหญ่นักปั่นมักจะเท้าเอียงอาการนี้เลยเกิดได้ง่าย จึงต้องเสริมแผ่น Wedge เข้าไปเพื่อให้ฝ่าเท้ามันมีการเอียงรับกับลักษณะของฝ่าเท้าของผู้ปั่น “ธรรมชาติของรองเท้าปั่นนั้นมันจะมีพื้นรองเท้าด้านในที่เป็นโฟมซึ่งพื้นตรงนั้นมันไม่เอียงมีลักษณะจะแบนเรียบแต่ว่าเท้าเราเอียง… มันจึงเกิดการกระจายแรงได้ไม่ดีทำให้เกิดอาการที่กล่าวไปข้างต้นมันจึงต้องเสริมเพื่อให้แรงนั้นมันเกิดการกระจายทั่วทั้งเท้า” ซึ่งแผ่นเสริมก็จะมีข้อดีข้อเสียอีก อย่างเช่นเจ้าแผ่น Wedge ที่เป็นแผ่น its มีลักษณะเป็นแผ่นลิ่มไว้ใช้ในรองเท้าข้อดีของมันคือสามารถใส่เข้าไปในรองเท้าได้เลยไม่ต้องติดตั้งอะไรยาก แต่ข้อเสียคือมันจะไปแย่งพื้นที่ภายในรองเท้าทำให้นักปั่นที่เลือกซื้อรองเท้าที่กระชับกับเท้าใส่เข้าไปจะรู้สึกว่าอึดอัดใส่ไม่สบาย ส่วนเจ้าแผ่น Wedge แบบนอกรองเท้าข้อดีของมันคือการติดตั้งนอกรองเท้าทำให้มันไม่ไปแย่งพื้นที่ข้างในการสมใส่จึงสบายแต่ข้อเสียคือนักปั่นบางคนอาจต้องใส่เพิ่มหลายแผ่นบวกกับบางคนอาจจะต้องเพิ่มความหนาของคลีทซึ่งต้องเสริมแผ่น Shim ที่จะเพิ่มความสูงใต้คลีทด้วย จึงทำให้ต้องเปลี่ยนน็อตยึดคลีทกับรองเท้าซึ่งต้องใช้ความชำนาญในการติดตั้งไม่งั้นจะเกิดการคลาดเคลื่อนได้ นี่คือปัญหาในส่วนของอาการปวดฝ่าเท้าด้านนอกหรือด้านใน

มาถึงอาการที่สองซึ่งอาจจะคล้ายกับอาการแรกคืออาการปวดฝ่าเท้าแต่ว่าปวดไปหมดเลยทั้งเท้า หรือ เท้าชา! ในกรณีนี้จะต้องกลับไปดูที่ตำแหน่งของคลีทที่เราใช้ “ว่ามันพอดีหรือไม่” เพราะส่วนมากนักปั่นที่ใช้คลีทจะชอบตั้งคลีทไปทางด้านหน้าที่ทางปลายเท้ามากเกินไปมันเลยปั่นไม่สบายจนเกิดอาการนี้ วิธีแก้ไขคือให้ลองปรับคลีทเลื่อนไปข้างหลังสัก 5 มม. หรือ 1 ซม. ดูยกตัวอย่างง่ายๆ ให้นึกถึงเวลาเรากำลังจะเดินขึ้นบันได ถ้าหากเราใช้ฝ่าเท้าเหยียบแล้วใช้แรงลงตรงนั้นไปเรื่อยๆ จะสังเกตได้ว่าเราจะเริ่มปวดเท้าไปหมดเลยแล้วจะตึงบริเวรอุ้งเท้า แต่ถ้าเราเดินเต็มฝ่าเท้าจะเดินขึ้นง่ายและสบายกว่า เช่นเดียวกับคลีทที่เลื่อนหน้าหลังให้เหมาะสมกับการส่งแรงจากเท้าได้นั่นเองยิ่งถอยหลังยิ่งปั่นสบายขึ้น ยิ่งปรับไปข้างหน้ายิ่งปั่นไม่สบายถึงจะได้ในเรื่องแรงงัดที่ดีกว่าก็ตามแต่มันอาจจะทำให้เกิดอาการเท้าชาหรือปวดเท้าได้ อีกอย่างหนึ่งสำหรับอาการเท้าชา บางทีอาจเป็นเพราะเกินจากตัวบุคคลเองด้วยก็มี ยกตัวอย่างเช่นส่วนน่องขา ต้นขาด้านหน้า ต้นขาด้านข้างนอก ที่มันมีความตึงมากแล้วผู้ปั่นยังออกแรงปั่นไปเรื่อยๆ เร่งความเร็วทำความเร็วเรื่อยๆ มันทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นไปกดทับเส้นประสาทมันเลยเกิดอาการชาได้ วิธีนี้การทำ Bike Fitting ก็ช่วยได้แต่ว่าก็ในระดับหนึ่งเท่านั้นหากอาการมันหนักเกินไปก็แนะนำว่าพบนักกายภาพจะดีกว่า

อาการที่สามคืออาการที่เรานั้นปั่นแล้วรู้สึกปวดด้านข้างหัวเข่า ในส่วนนี้มันจะสัมพันธ์กับกรณีแรกคือสาเหตุนั้นเหมือนกับอาการแรกเลยเพียงแต่ว่าการที่พื้นรองเท้าแบนหรือเท้าเราเอียงแล้วไม่มีการเสริมแผ่นต่างๆ อาการแต่ละคนอาจจะออกไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะมาเกิดในส่วนของข้างๆ เข่าด้านในหรือด้านนอกแทน หรือบางเคสอาจจะเกิดอาการปวดที่ข้อเท้าเลยก็ได้ แต่ละเคสก็จะต่างกันแล้วแต่ว่ากรณีของใครอาการจะไปออกที่ส่วนไหนมากกว่า แต่ถ้าเจ็บเข่าด้านหน้าจะต้องไปดูในเรื่องเบาะแทนว่าปรับเบาะต่ำไปไหม เบาะเดินหน้าหรือถอยหลังมากเกินไปหรือเปล่า หรือคลีทอยู่ในตำแหน่งที่ติดกับปลายเท้ามากไป แต่ถ้าอาการมันนอกเหนือไปอีกก็ต้องมาพูดถึงเรื่องของลักษณะขาของแต่ละคนไปเลยเพราะบางคนมีปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากันก็ต้องไปให้ผู้ที่ทำ Bike Fitting ที่ชำนาญทำให้โดยเฉพาะไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้

อาการต่อมาไม่ใช่ในเรื่องของการปั่นไม่สบายแต่เป็นปัญหาในเรื่องของความน่ารำคาญส่วนบุคคลที่ทำให้การปั่นนั้นไม่สนุกและไม่สบายนิดหน่อยคืออาการเข่าและขาเสียดตีกับเฟรมในขณะปั่น มันเกิดมาจากลักษณะของขาของนักปั่นบางคนเนี่ยมันโก่งแล้วตั้งคลีทที่ไม่พอดีกับสภาพของขา ทางแก้คือมันต้องตั้งคลีทให้ระยะห่างของขาทั้งสองข้างมันมีมากขึ้นเพราะไอ้ระยะที่มันน้อยนี่แหละมันจึงทำให้รองเท้าเราสีกับขาจานหรือขาสีกับเฟรม ซึ่งบางทีเราอาจจะปรับออกสุดแล้วแต่ด้วยข้อจำกัดของคลีทบางยี่ห้อมันปรับได้ไม่มากเลยจะมีอุปกรณ์ที่เค้าเรียกว่า Spacer เข้ามาช่วยเพิ่มระยะตรงนี้ให้ระยะมันแยกออกจากกันมากขึ้น ซึ่ง bike fit ทำออกมามีแบบ 1 มม. กับ 20 มม. ครับ ถ้าหากเพิ่มแล้วยังพบปัญหานี้อยู่ก็อาจจะต้องแก้ด้วยการสัง Custom แกนบันไดจักรยาน

สำหรับอาการที่ทำให้ปั่นไม่สบายในส่วนของขาและฝ่าเท้าที่มักพบบ่อยๆ ก็จะมีประมาณนี้ครับผม สุดท้ายนี้อยากฝากถึงผู้ที่กำลังอ่านและทำความเข้าใจในปัญหาส่วนนี้อยู่ว่า จริงๆ แล้วปัญหานั้นไม่ได้มีวิธีการแก้ที่ตายตัว บางปัญหาอาจจะมีทางแก้ที่ดีกว่าตามการวิเคราะห์ลักษณะของบุคคลที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย เพราะฉะนั้นการที่เราจะเลือกทำ Bike Fitting ก็ควรที่จะทำกับผู้ชำนาญจริงๆ มากกว่าการที่เราลองทำเองครับผม