วันนี้เรามาทำความรู้จักกับประเภทยางกันว่ามีประเภทไหนบ้าง แล้วแต่ละแบบเหมาะกับถนนหนทางแบบไหน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดยเราจะแบ่งเหมือนกับยางแบรนด์อื่นๆ เป็น ยางฮาร์ฟ ยางงัด ยางทูปเลส ครับผม 

ยางงัดของ TUFO ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความทนทานจะมีแบ่งเป็นทั้งหมด 3 แบบ คือ ซ้อม แข่งขัน และ กึ่งเเข่งขัน ปกติแล้วยางงัดจะมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฝึกซ้อม  ปั่นทางไกล ปั่นธรรมดาทั่วไป กันเสียมากกว่า ด้วยลักษณะที่มียางนอกยางในของมันนั้นสะดวกและง่ายต่อการถอดเปลี่ยนเวลาที่เกิดเหตุการณ์ยางแตกหรือยางรั่ว แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีของยางได้พัฒนามาไกลมากจนเกิดเป็นยางงัดในรูปแบบแข่งขันและกึ่งแข่งขันด้วย 

หากถามว่าเหมาะสมกับเส้นทางแบบไหน ด้วยความทนทานที่มากกว่ายางประเภทอื่นทำให้ยางงัดค่อนข้างเหมาะกับถนนทุกแบบเลยทีเดียว แต่ข้อเสียคืออาจจะมีน้ำหนักค่อนข้างเยอะ และ มีแรงเสียดทานภายในยางและแรงเสียดทานต่อพื้นถนนมากกว่าทำให้มันมีค่า rolling resistance ไม่ได้ดีมากเหมือนยางประเภทอื่น 

ซึ่งถ้าหากต้องการใช้ยางงัดแต่ต้องการความเบา ต้องการค่า rolling resistance ที่ดีกว่ายางงัดทั่วไป TUFO ก็ยังมีทางเลือกให้นักปั่นจักรยานเลือกใช้กันในรุ่นที่มีความเบาและแอร์โรไดนามิคสูงอย่างรุ่น Comtura Aero หรือ หากต้องการยางงัดที่น้ำหนักเบาและทนทานนุ่มนวลก็ยังมียางงัดในระดับกึ่งแข่งขันอย่าง Comtura Duo ไว้เป็นทางเลือกอีกด้วยครับ 

ในส่วนของยางทูปเลสที่หน้าตาดูเหมือนว่าจะคล้ายกับยางงัดแต่กลับไม่มียางในก็ดูเหมือนว่าจะเหมาะสมกับทุกสภาพถนนเช่นเดียวกับยางงัด แต่ด้วยความที่ยางทูปเลสนั้นเป็นยางที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยางในจึงทำให้มีน้ำหนักที่น้อยกว่ายางงัด ได้ความนุ่มนวลมากกว่า และ ค่า rolling resistance ที่ดีกว่าอย่างเหลือเชื่อ แต่ก็ต้องแลกมากับการที่เราต้องใช้น้ำยา Sealant เติมเข้าไปด้วยทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากตัวยางนิดหน่อย แต่ก็ช่วยลดโอกาสยางรั่วได้เยอะมาก ถึงจะดูเหมือนว่าเป็นยางที่ใช้เพื่อฝึกซ้อมแต่ยางทูปเลสก็มีรุ่นที่ทำมาเพื่อให้ใช้งานได้อย่างครอบคลุมมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันหรือการปั่นทางไกลก็ตาม เช่น ยาง TUFO รุ่น Comtura 3TR ที่เป็นยางทูปเลสตัวท็อปที่พร้อมจะลุยไปกับพี่ๆ นักปั่นในทุกเส้นทางการปั่น 

ยางทูปเลสในยุคแรกๆ เราจะเห็นว่าถูกนำมาใช้กับจักรยานเสือภูเขากันเสียมากกว่า  แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีของยางจักรยานได้พัฒนาให้ยางทูปเลสนั้นมาใช้กับจักรยานเสือหมอบได้ด้วยเพื่อการใช้งานที่ทนทานและพร้อมลุยไปในทุกสภาพเส้นทาง 

ข้อดีคือ เป็นยางที่พร้อมจะลุยไปกับเราได้ทุกที่เพราะมีความทนทานมาก น้ำหนักเบากว่ายางงัดเพราะว่าไม่ต้องใช้ยางใน บอกลาปัญหายางรั่วเพราะมีน้ำยา Sealant ได้ความนุ่มนวลและค่า rolling resistance ที่ดีกว่าเพราะว่าไม่มียางในจึงทำให้ลดการเสียดสีและความหน่วงของยางที่สัมผัสกับผิวถนนได้ดี  

ข้อเสียคือเมื่อรั่วแล้วจะไม่สามารถถอดเปลี่ยนยางในได้เลยเพราะมันมีแค่ยางนอกเท่านั้น เเต่ก็ยังสามารถพกยางในไปใส่ได้เช่นกันในกรณีที่รั่วแล้วน้ำยา Sealant เอาไม่อยู่ จำเป็นต้องใช้กับล้อที่รองรับยางทูปเลสได้จริงๆ ไม่สามารถใช้กับล้อยางงัดสมัยเก่าได้ และ การติดตั้งก็ค่อนข้างมีขั้นตอนที่ยากลำบากเล็กน้อยซึ่งต้องอาศัยผู้ชำนาญในการติดตั้ง 

มาถึงยางอีกประเภทที่ในประเทศไทยเราก็นิยมใช้กัน นั่นก็คือยางฮาร์ฟ จริงๆ แล้วยางฮาร์ฟนั้นถูกทำมาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ ด้วยลักษณะของยางที่เป็นท่อเดียว ไม่มียางนอกและยางใน แต่ลักษณะดูเหมือนจะเป็นยางในที่มีความทนทานขึ้นมานิดหน่อยเสียมากกว่า ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นว่าในทุกๆ สนามการเเข่งขันไม่ว่าจะเป็นรายการใหญ่หรือรายการเล็กๆ นักปั่นส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้ยางประเภทนี้แข่งขัน ด้วยความเบา ความกลมของท่อยาง ความนุ่มนวล สูบลมได้เยอะ เลยทำให้ยางประเภทนี้ได้รับความนิยมในการแข่งขันอย่างมาก

ส่วนใหญ่ยางประเภทนี้จะเหมาะกับทางราบหรือทางที่ไม่มีเศษหินดินทรายเสียมากกว่า เพราะตัวยางไม่ได้ทนต่อการเจาะทะลุขนาดนั้น แต่ด้วยลักษณะของยางทำให้การใช้งานจะได้ในเรื่องของความนุ่มนวลที่สูงมาก เกาะถนนได้ดีด้วยลักษณะที่เป็นท่อกลม ค่า rolling resistance ที่สูง น้ำหนักก็ยังเบากว่ายางทุกประเภท เรียกได้ว่าอาจจะเป็นยางที่ให้ความรู้สึกในการปั่นที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้ แต่ว่าด้วยลักษณะของยางแบบนี้ก็มีข้อเสียตามมาอีกเช่นกัน

ข้อเสียคือรั่วแล้วรั่วเลยหากน้ำยา Sealant เอาไม่อยู่ เปลี่ยนยางไม่ได้ต้องเข้าร้านเซอร์วิสเท่านั้น ติดตั้งยากต้องใช้ช่างผู้ชำนาญจริงๆ รั่วแล้วต้องเปลี่ยนยางและเทปกาวติดล้อใหม่ทั้งหมด คราบเทปกาวที่ติดกับขอบล้อเอาออกยากถ้าไม่มีตัวช่วย รั่วง่าย ต้องใช้กับล้อยางฮาร์ฟโดยเฉพาะเท่านั้น ยางมีราคาแพงกว่าประเภทอื่น