โดยทั่วไปแล้วนักปั่นจักรยานก็ยังนิยมใช้ยางงัดกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ยางจักรยานเสือหมอบนั้นไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว นักปั่นหลายท่านที่เริ่มปั่นมาได้สักระยะหรือได้ดูการแข่งขันจักรยานในรายการต่างๆ ก็มักจะเห็นว่านักปั่นมืออาชีพนิยมใช้ยางฮาร์ฟกัน ซึ่งนักปั่นหลายๆ ท่านก็นิยมใช้ยางประเภทนี้ในการปั่นเช่นเดียวกัน วันนี้เราจึงอยากจะมานำเสนอวิธีการเติมน้ำยา Sealant สำหรับผู้ที่อยากหันมาใช้ยางฮาร์ฟและยางทูปเลสกันครับ

เมื่อจะเติมน้ำยา Sealant ในยาง ก็จะต้องมีน้ำยา Sealant และ อุปกรณ์อื่นๆ ด้วย 

1.น้ำยา Sealant : สิ่งแรกที่เราจะขาดไม่ได้เลยก็คือน้ำยา Sealant หรือ น้ำยากันรั่ว นั่นเอง น้ำยา Sealant นั้นมีหลายแบบมาก ยกตัวอย่างเช่นของ TUFO ก็จะมีแบบสีเหลืองคือเติมก่อนออกปั่น และ สีดำคือเติมหลังจากเกิดการรั่วซึม ซึ่งต้องเลือกซื้อให้ถูก

2.อุปกรณ์ขันวาล์วลมยาง : อุปกรณ์ขันหัววาล์วลมยางจำเป็นต่อการเติมน้ำยา Sealant มาก เพราะว่า วาล์วลมของยางฮาร์ฟและยางทูปเลสนั้นจะมีลักษณะเป็นเกลียวด้านในที่สามารถขันถอดหัววาล์วออกได้ เมื่อขันออกแล้วจึงจะเติมน้ำยา Sealant ได้ หากไม่มีอุปกรณ์ตัวนี้แถมมากับยาง ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านเซอร์วิสจักรยาน

3.ตัวต่อวาล์ว : ตัวต่อวาล์วนั้นเป็นเพียงตัวช่วยเพิ่มความยาวของวาล์วลมยางเท่านั้น ซึ่งหากว่าพี่ๆ ไม่ได้ใช้ล้อขอบสูงมากๆ ก็สามารถเลือกซื้อยางฮาร์ฟที่มีวาล์วลมยางขนาดที่รองรับกับขอบล้อได้ หรือ หากใช้ยางทูปเลสก็สามารถเลือกขนาดความยาวของวาล์วลมยางที่ล้อรองรับได้เช่นกัน ถ้าหากวาล์วของเรายาวพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ 

4.ยางฮาร์ฟ หรือ ยางทูปเลส : แน่นอนว่าการเติมน้ำยา Sealant ก็ต้องมียาง แต่ถ้าหากพี่ๆ ต้องการเติมน้ำยา Sealant ไปในยางใน ก็ต้องเลือกซื้อยางในที่สามารถถอดหัววาล์วลมยางได้ด้วย ไม่ใช่แค่ยางฮาร์ฟและยางทูปเลสเท่านั้นที่สามารถเติมน้ำยากันรั่วได้ ยางในของยางงัดบางแบรนด์ และ น้ำยา Sealant บางแบรนด์ก็เติมกับยางในได้เช่นกัน แต่มีข้อแม้ว่ายางในเส้นนั้นต้องถอดหัววาล์วได้ด้วย 

วิธีการเติมนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากถ้าหากเรามีอุปกรณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาครบแล้ว เพียงแค่เราปล่อยลมออกให้หมดก่อน จากนั้นใช้อุปกรณ์ถอดวาล์วลมยางขันวาล์วออกให้เหลือแต่ท่อวาล์ว นำน้ำยา Sealant เขย่าขวดแล้วเติมเข้าไปได้เลยทันที โดยการเติมให้เราตั้งยางตรงๆ เหมือนกับเป็นนาฬิกาและให้ตัววาล์วนั้นเฉียงออกไปที่ตำแหน่ง 8 นาฬิกา จากนั้นจึงค่อยๆ บีบน้ำยา Sealant จากขวดเติมเข้าไป หรือ ใช้ไซริงค์ดูดน้ำยา Sealant ออกจากขวดและต่อเข้ากับท่อวาล์วและเติม เมื่อเสร็จแล้วให้เราขันหัววาล์วลมเข้าเหมือนเดิม และกลิ้งยางให้หมุนเหมือนตอนปั่นสักรอบก่อนแล้วจึงเติมลมยางให้เต็มเป็นอันเสร็จเรียบร้อย  

ปกติแล้วน้ำยา Sealant จะมีข้อมูลบอกไว้ว่า 1 ขวดสามารถเติมได้เท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น น้ำยา Sealant ของ Tufo 1 ขวด 50 ml จะสามารถเติมยางได้ 2-3 เส้น คือปริมาณที่เหมาะสม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับน้ำยา Sealant ของแต่ละแบรนด์ด้วยว่าจะต้องใช้เท่าไหร่ต่อยาง 1 เส้น วิธีเติมก็สามารถกะปริมาณเอาได้ หรือใช้ไซริงค์ที่มีสเกลของปริมาณดูดน้ำยา Sealant ขึ้นมาแล้วเติมก็ได้ครับ

แน่นอนว่าการใช้น้ำยา Sealant ก็มีข้อควรระวังอยู่เช่นกัน สิ่งที่ควรระวังคือเรื่องการแข็งตัวของน้ำยา Sealant ในการซื้อเราต้องเช็คให้ดีว่าน้ำยา Sealant นั้นอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือไม่ ข้อควรระวังอีกเรื่องคือเราควรมีน้ำยา Sealant พกพาตอนปั่นเสมอ ถึงแม้เราจะเติมน้ำยา Sealant ก่อนออกปั่นแล้วก็ตาม 

ถ้าหากยางรั่วแล้วน้ำยา Sealant อุดรอยรั่วไม่อยู่เราก็จะไม่สามารถเติมลมแล้วปั่นต่อไปได้เลย เราจึงต้องควรพกน้ำยา Sealant อีกสูตรไปเสมอ เช่น ของ TUFO ก็จะมีน้ำยา Sealant ขวดสีดำที่เป็นสูตร Carbon น้ำยาตัวนี้จะใช้เติมในระหว่างปั่นหรือเติมในขณะที่เกิดการรั่วซึมแล้วน้ำยาสูตรธรรมดาเราเอาไม่อยู่ ซึ่งก็มีพี่ๆ นักปั่นบางท่านเลือกที่จะไม่เติมน้ำยา Sealant ก่อนออกปั่น แต่เลือกใช้น้ำยา Sealant ของ TUFO ขวดสีดำนี้ในขณะที่เกิดการรั่วซึมแล้วเช่นกัน ซึ่งจะใช้แบบไหนขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคลครับ