การใช้งาน “น้ำยากันรั่ว” หรือ “น้ำยา Sealant” ผู้ใช้มักมีความคิดอยู่ 2 แบบ คือ “ต้องเติมก่อนรั่ว” กับ “รั่วแล้วค่อยเติม” ส่วนมากมักจะได้คำแนะนำว่า เติมก่อนปั่นอยู่เสมอสำหรับผู้ใช้ยางฮาร์ฟหรือยางทูปเลส แต่ก็มีนักปั่นบางกลุ่มที่เลือกจะเติมในขณะที่รั่วเช่นกัน วันนี้เราจึงอยากมาพูดคุยกันในเรื่องนี้กันว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน

การเติมน้ำยา Sealant คือวิธีป้องกันการรั่วซึมของยางฮาร์ฟและยางทูปเลสในขณะที่เราปั่น เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าบนทางข้างหน้าเราจะต้องเจอกับอะไรบ้างที่อาจจะทำให้ยางรั่วได้ ประกอบกับลักษณะของยางฮาร์ฟและยางทูปเลสที่รั่วแล้วไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันทีเหมือนยางงัดผู้ใช้จึงต้องมีน้ำยา Sealant ติดบ้านอยู่เสมอ 

รวมถึงในสนามแข่งขัน นักแข่งจักรยานก็ใช้น้ำยา Sealant เช่นกัน แต่วัตถุประสงค์จะค่อนข้างแตกต่างกับนักปั่นที่ปั่นออกกำลังกายนิดหน่อย นักปั่นเเข่งขันนั้นเติมเพื่อให้ตอนรั่วแล้วยังพอปั่นทำระยะไม่ให้ทิ้งห่างกับกลุ่มมาก เพื่อรอรถเซอร์วิสของทีมมาเปลี่ยนจักรยานหรือเปลี่ยนล้อใหม่ให้ แต่นักปั่นที่ปั่นเพื่อออกกำลังกายมักจะเติมเพื่ออุดรอยรั่วแล้วเติมลมให้สามารถปั่นต่อไปได้เรื่อยๆ

เราไม่สามารถตอบได้ว่าเติมก่อนปั่นหรือเติมตอนรั่วจะดีกว่ากัน เพราะว่าการเติมน้ำยา Sealant นั้นขึ้นอยู่กับความชอบและมุมมองของผู้ปั่นแต่ละคน และ การเติมน้ำยา Sealant ไม่ว่าจะเติมแบบไหนวัตถุประสงค์ก็เพื่อกันยางรั่วเหมือนกัน  

ในมุมมองของผู้ที่เติมก่อนปั่นก็จะคิดว่า “กันไว้ก่อนดีกว่าแก้” ก็คือเติมไปเลยรั่วแล้วก็เอาอยู่ก็จอดเติมลมด้วยสูบลมพกพาที่ติดรถไว้หรือตัวเติมลมแบบ Co2 ที่ซื้อพกเอาไว้ก็ปั่นต่อได้ 

ในมุมของผู้ปั่นที่ชอบเติมตอนรั่วก็มักจะคิดว่าเราอาจไม่ต้องเติมก่อนออกปั่นก็ได้ เพียงแค่เราพกน้ำยา Sealant สูตรที่มีความเข้มข้นสูง หรือ สูตรปรกติ ที่มีปริมาณที่พอดีต่อยางทั้งสองเส้นไปด้วย รั่วแล้วค่อยเติมแล้วก็สูบลมเข้าไปใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ช่วยประหยัดน้ำยา Sealant ของเราได้ด้วย 

การเติมน้ำยา Sealant ก่อนออกปั่นดีกว่าตรงที่เราจะอุ่นใจแน่นอนในการปั่นแต่ละครั้ง สร้างความมั่นใจให้นักปั่นได้ดีในการปั่น ในส่วนของผู้ที่รอเติมน้ำยา Sealant ตอนรั่วก็อาจไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ในตอนปั่น บางท่านอาจเกิดความระแวงในถนนหนทางที่ปั่นอยู่ จึงต้องระมัดระวังมากกว่าผู้ที่เติมก่อนปั่น

บางครั้งการปั่นจักรยานก็ใช่ว่ายางจะรั่วทุกครั้งที่ปั่น เพราะฉะนั้นการเติมน้ำยา Sealant ก่อนออกปั่นก็อาจจะทำให้เราต้องคอยเติมน้ำยา Sealant เพิ่มเรื่อยๆ ถ้าหากน้ำยา Sealant ที่อยู่ภายในยางแห้งแล้ว ก็อาจจะสิ้นเปลืองน้ำยา Sealant นิดหน่อย ในทางผู้ที่เติมตอนรั่วก็อาจจะประหยัดน้ำยา Sealant ได้มากกว่า

แน่นอนว่าเมื่อเติมก่อนปั่นแล้วน้ำยาภายในยางแห้งก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องวาล์วลมยางอุดตันได้มากกว่าผู้ที่เติมตอนรั่ว อีกเรื่องคือหากผู้ปั่นลืมตรวจเช็คน้ำยาภายในยางว่าแห้งแล้วหรือไม่ หรือปริมาณมีเพียงพอไหม ก็อาจจะทำให้ตอนปั่นก็มีโอกาสรั่วได้เช่นกัน สุดท้ายก็อาจจะต้องเติมตอนรั่วเพิ่ม

ใช่ว่าการเติมตอนรั่วแล้วน้ำยา Sealant จะเอารอยรั่วอยู่ อย่างที่หลายๆ ท่านทราบว่าน้ำยา Sealant ใช้อุดรอยรั่ว แต่เมื่อรอยรั่วนั้นใหญ่เกินไปจนน้ำยา Sealant เอาไม่อยู่ ทั้งผู้ที่เติมก่อนปั่นหรือเติมตอนรั่วก็อาจจะต้องมีอุปกรณ์เสริมในการแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากการใช้น้ำยา Sealant แบบปรกติเราอาจจะมองหาตัวช่วยเพิ่มเติมเพื่อพกพาเอาไว้ตอนปั่น เช่น น้ำยา Sealant ที่มีความเข้มข้นสูง อุปกรณ์อุดรอยรั่วแบบเส้นยาง น้ำยาเร่งปฏิกิริยาการเเข็งตัวของน้ำยา หรือ ผู้ที่ใช้ยางทูปเลสก็อาจจะพกยางในเพิ่มเติม เป็นต้น 

ไม่ว่าจะเติมก่อนปั่นหรือเติมตอนรั่ว เมื่อปั่นเสร็จแล้วก็ควรจะเปลี่ยนยางเส้นใหม่อยู่ดี เพราะน้ำยา Sealant นั้นเป็นเพียงตัวช่วยให้นักปั่นมีความมั่นใจมากขึ้นในขณะที่ใช้ยางฮาร์ฟหรือยางทูปเลส ถึงจะอุดรอยรั่วได้แต่เมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ น้ำยาในจุดที่อุดรอยรั่วก็เสื่อมสภาพได้เช่นกัน มันจึงทำให้มีโอกาสที่จะรั่วซ้ำได้ ถ้าหากสังเกตนักปั่นแข่งขันในสนาม เขาก็จะไม่นิยมใช้ยางที่รั่วแล้วผ่านการอุดรอยรั่วโดยน้ำยา Sealant เพื่อปั่นต่อจนจบสนาม แต่เค้าจะใช้ปั่นต่อเพื่อรอรถเซอร์วิสหรือรอช่างมาเปลี่ยนล้อให้เท่านั้น 

อย่างไรก็ตามการเติมตอนรั่วเราอาจจะต้องพกไปทั้งน้ำยา Sealant และ สูบลมพกพา หรือ Co2 แต่การเติมก่อนปั่นนั้นเราพกไปแค่เพียง Co2 หรือ สูบลมพกพาเท่านั้น แต่ในกรณีที่ผู้เติมน้ำยา Sealant ก่อนออกปั่นอยากได้ความมั่นใจในการปั่นที่มากขึ้นก็อาจจะต้องพกขวดน้ำยา Sealant สูตรเข้มข้นสูงแบบพกพาไปด้วยเสมอ และเมื่อปั่นเสร็จแล้วหรือใช้งานต่อไปได้สักระยะเราก็ควรจะเปลี่ยนยางเส้นใหม่เสมอ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเติมก่อนปั่นหรือเติมตอนรั่ว ก็มีข้อดีข้อเสียคนละแบบหรืออาจจะมีข้อดีข้อเสียที่ไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ จึงสรุปได้ว่าจะเติมแบบไหนก็สามารถอุดรอยรั่วได้เช่นกัน แล้วแต่ความสะดวกและมุมมองของผู้ปั่นจักรยานว่าต้องการแบบไหนครับ