ขึ้นชื่อว่าเป็น Power Meter ทุกท่านจะรู้เลยว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่มีความละเอียดอ่อนสูงมากกว่าขาจานปรกติที่เราใช้กัน จึงมีข้อสงสัยตามมาว่า หากว่าใช้ไปนานๆ แล้วใบจานเริ่มสึกหรอ หรือ อยากเปลี่ยนใบจานให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง เราสามารถเปลี่ยนใบจานเองได้หรือไม่ เพราะว่าลักษณะของ Stages Power Meter ข้างขวา (R) ไม่ว่าจะ Gen ไหนก็จะเห็นได้ว่ามีห้องระบบของเซนเซอร์อยู่ 2 จุด และ อยู่ในจุดที่ติดกับใบจานเหมือนจะแกะออกไม่ได้เลย วันนี้เรามีคำตอบครับ

ถึงจะบอกว่า Stages Power Meter Gen 3 เป็นรุ่นที่ถูกพัฒนามาจนเป็นรุ่นที่ดีที่สุดในตอนนี้ แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่ คือ ถ้าหากนำไปใช้กับจักรยานไตรกีฬา หรือ จักรยานที่ใช้เบรกใต้กระโหลก จะไม่สามารถใช้ Stages Power Meter ขาซ้ายได้ ต้องใช้ข้างขวาเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงให้ระยะของห้องระบบเซนเซอร์ไม่ชนกับเชนสเตย์หรือชนกับเบรกใต้กระโหลก 

ในส่วนของห้องระบบเซนเซอร์ก็จะสังเกตได้ว่าทั้งขาซ้าย (L) และขาขวา (R) นั้นไม่เหมือนกัน ด้านขาซ้ายจะเป็นห้องระบบพร้อมห้องถ่านอยู่ด้านหลังขาจาน แต่ขาจานด้านขวาจะมีห้องระบบถ่านอยู่ด้านหน้าขาจานชิดกับใบจาน ซึ่งถ้าหากจะเปลี่ยนถ่านต้องขันน็อตปิดฝาออกเพื่อเปลี่ยน และ ห้องระบบเซนเซอร์ที่มีไฟ LED แสดงสถานะของขาจานจะอยู่ด้านหลังขาจานซึ่งมีใบจานบังอยู่ ตรง 2 จุดนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า “จะถอดเปลี่ยนใบจานได้หรือไม่” ถ้าหากใบจานเสื่อมสภาพ หรือ อยากเปลี่ยนใบจานขนาดใหม่ 

ใบจานของ Stages Power สามารถถอดเปลี่ยนเองได้เหมือนกับขาจานปรกติ เพียงแต่เราต้องระวังในจุดของห้องระบบถ่านและห้องระบบเซนเซอร์ ขาจาน Stages Power Meter Gen3 ข้างขวาจะมีเพียงแค่ในรุ่น Shimano เท่านั้น ซึ่งเวลาเราเปลี่ยนใบจานก็ไม่ต้องกังวลในเรื่องของขนาด BCD ใบจานเลยเพราะใบจานของ Shimano สามารถใส่ร่วมกันได้ ทำให้ผู้ใช้สามารถหาซื้อใบจานอะไหล่มาเปลี่ยนเองได้เลย 

โดยวิธีการเปลี่ยนนั้นต้องขันน็อตยึดใบจานออก โดยใช้ประแจดาวหัว T30 ในการขันออก และค่อยๆ ผลักใบจานออกจากบ่าล็อกรูน็อต เมื่อหลุดออกทั้ง 4 บ่าแล้ว ให้ค่อยๆ ผลักใบจานออกอย่าให้โดนห้องระบบถ่านและห้องระบบเซนเซอร์ที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังใบจาน 

นอกเหนือจากเราต้องระวังไม่ให้ใบจานนั้นไปกดทับหรือดันห้องระบบถ่ายหรือห้องระบบเซนเซอร์จนแตกแล้ว ยังมีอีก 3 เรื่องที่เราควรต้องระวัง คือ 1.ระวังเรื่องการขันน็อต เวลาขันน็อตล็อกใบจานให้ใส่ประแจลงไปลึกๆ จนเต็มรูน็อตแล้วค่อยขัน เพราะไม่อย่างนั้นอาจทำให้น็อตหัวรูดและเสียหายได้ 2.เรื่องการขันทอร์ก น็อตใบจานจะต้องขันค่า Nm. ให้อยู่ที่ 12-14 Nm. ทุกตัวและใช้วิธีการขันไขว้เพื่อกระจ่ายแรงบิดของน็อตให้สม่ำเสมอ 3.นอกจากการเปลี่ยนใบจานอาจจะทำให้ห้องระบบถ่านแตกได้เราจึงควรถอดฝาห้องถ่านออกก่อนเสมอและตอนใส่กลับขันน็อตให้พอตึงมือ หากขันแน่นจนเกินไปก็อาจจะทำให้ห้องระบบถ่านและฝาปิดถ่านแตกได้เช่นกัน นอกเหนือจากข้อควรระวังเหล่านี้ ที่เหลือก็เหมือนกับการเปลี่ยนใบจานของ Shimano ทุกๆ อย่างเลยครับ