หลายครั้งที่เรานั้นอยากจะหาเครื่องมือเซอร์วิสจักรยานมาไว้ใช้เองที่บ้านแต่ไม่มีเวลาไปซื้อที่ร้านจักรยานหรือไม่รู้แหล่งขายเครื่องมือชิ้นนั้นๆ หลายท่านก็มักจะหาดูในแอพพลิเคชั่นช็อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยมอย่าง Lazada และ Shopee กันใช่ไหมล่ะครับ แต่ว่าข้อเสียของการซื้อของออนไลน์คือเราไม่เห็นสินค้าจริงนี่สิ… อุปกรณ์บางตัวก็มีรูปร่างที่แตกต่างกันไปอีกทั้งๆ ที่มันเป็นเครื่องมือแบบเดียวกันแท้ๆ เอาแล้วไงจะเลือกยังไงดี เลือกซื้อตัวไหนดี? วันนี้เรามาดูกันครับว่าควรจะดูจากอะไรเมื่อคิดจะซื้อเครื่องมือ Park Tool ผ่านช่องทางออนไลน์

อย่างที่กล่าวไปครับมีเครื่องมือหลายๆ ตัวที่หน้าตาเหมือนกันมากแต่ใช้งานคนละแบบ หรือ บางเครื่องมือหน้าตาไม่เหมือนกันแต่เป็นอุปกรณ์ประเภทเดียวกัน มันจะเลือกยังไงดีล่ะเนี่ย วันนี้เราจะยกตัวอย่างให้ทุกๆ ท่านได้ดูกันสัก 1-2 อุปกรณ์ ตัวแรกเป็นสิ่งที่ควรต้องมีติดบ้านไว้สักอันเลยคือ “ประแจทอร์ก” หรือ “ประแจปอนด์” เข้าไปดูในแอพฯ โอ้โหมีหลายแบบหลายโมเดลจริงๆ ทั้ง ATD-1.2, PTD-4, PTD-5, PTD-6, TW-5.2, TW-6.2 เอาแล้วไงอยากได้ประแจทอร์กมาใช้เลือกตัวไหนดีล่ะ เรามาดูกันว่าแต่ละตัวมันเป็นยังไง

เจ้า ATD-1.2 คือประแจทอร์กที่สามารถเปลี่ยนหัวได้ตั้งแต่ 3, 4, 5 และ T25 โดยมีหัวอยู่ในตัวบอดี้ของมัน สามารถเปลี่ยนค่านิวตันแมตรได้ 4, 4, 5, 5, 5.5, 6 นิวตันเมตร ค่อนข้างครบจบในตัวมันเอง แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันครบจบสำหรับทุกจุดที่ต้องการขันค่านิวตันเมตร เพราะมันทำได้สูงสุดแค่ 6 นิวตันเมตรเท่านั้น มันจึงเหมาะสมสำหรับการซื้อติดบ้านไว้เพื่อขันสเต็ม ขันเบรก ขันหลักอาน ตามจุดค็อกพิต จุดเล็กๆ น้อยๆ ครับ ก็เป็นเครื่องมือที่น่ามีติดบ้านไว้ ถึงแม้จะไม่ได้ถอดเปลี่ยนอะไหล่บ่อยๆ แต่ก็มีเอาไว้ขันเช็คก่อนออกไปปั่นเพื่อความสบายใจก็ยังดีครับผม

มาดูอีก 3 ตัวที่หน้าตาเหมือนกับ ATD-1.2 มากๆ ต่างกันแค่ตรงปลายด้ามอุปกรณ์ที่จะมีสีและเลข คือ PTD-4, PTD-5, PTD-6 สิ่งที่เจ้า 3 ตัวนี้สามารถทำได้เหมือนกับ ATD-1.2 เลยก็คือ ในบอดี้ของมันมีหัวขนาดต่างๆ มาให้ และ สามารถขันค่านิวตันเมตรได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ 3 ตัวนี้ไม่สามารถทำได้เหมือน ATD-1.2 คือการขันค่านิวตันเมตรที่หลากหลาย เพราะว่ามันขันได้ตัวละค่า คือ PTD-4 ขันได้ที่ค่า 4 นิวตันเมตร PTD-5 ขันได้ที่ค่า 5 นิวตันเมตร PTD-6 ขันได้ที่ 6 นิวตันเมตร ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เฉพาะเจาะจงเกินไปสำหรับการใช้งาน เพราะว่าบางทีแต่จะจุดของจักรยานแบรนด์ต่างๆ มันใช้การขันค่านิวตันเมตรไม่เท่ากัน บางทีขันสเต็ม 5 นิวตันเมตร แต่ว่าหลักอานต้องขัน 7 นิวตันเมตร เป็นต้น หลายๆ ท่านจึงไม่ค่อยนิยมซื้อกันสักเท่าไหร่ เว้นแต่ว่าจักรยานของพี่ๆ ขันค่านิวตันเมตรเท่ากันทุกจุดค็อกฟิตก็สามารถใช้ได้ครับ

อีกสองตัวที่หน้าตาของมันคือประแจทอร์กโดยแท้จริงเลยก็คือ TW-5.2 และ TW-6.2 เจ้าสองตัวนี้ส่วนใหญ่แล้วจะถูกใช้โดยช่างประจำร้านซ่อมจักรยาน แต่ถ้าถามว่าถ้าอยากซื้อใช้งานที่บ้านแนะนำไหมเราก็แนะนำครับ แต่เราแนะนำสำหรับผู้ที่ถอดประกอบจักรยานเป็น ต้องการจะเซอร์วิสจักรยานทั้งคันด้วยตัวเองและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการซ่อมบำรุงส่วนต่างๆ ของจักรยานดีแล้วนะครับ ถ้าพี่ๆ ต้องการที่จะเซอร์วิสจักรยานของตัวเองทั้งคัน 2 ตัวนี้ก็ควรมีเอาไว้อย่างยิ่ง เพราะทุกส่วนของจักรยานมีค่านิวตันเมตรทั้งหมดครับ แต่ว่าเจ้า TW-5.2 และ TW-6.2 นั้นไม่ได้มีหัวมาให้ครับ พี่ๆ ต้องซื้อชุดรูปบ็อกหัวประแจของ Park Tool รหัส SBS-1.2 หรือ SBS-3 เพิ่มครับ เพื่อให้ใช้งานกันได้อย่างครอบคลุม โดย 2 ตัวนี้ก็มีการขันค่านิวตันเมตรที่แตกต่างกัน TW-5.2 ขันได้ 2-14 นิวตันเมตร TW-6.2 ขันได้ 10-60 นิวตันเมตร ถ้าต้องการจะเซอร์วิสรถจักรยานทั้งคันด้วยตัวเอง ยังไงก็ต้องมีทั้ง 2 ตัวนี้ไว้ติดบ้านอย่างแน่นอนครับ

ยกตัวอย่างกันอีกสักอุปกรณ์นึงสำหรับคอนเทนต์นี้ คือ “ที่งัดยาง” ที่งัดยางก็มีหลายโมเดลเหมือนกัน แต่การตัดสินใจเลือกซื้อก็คงไม่ยากเท่ากับการเลือกประแจทอร์ก ที่งัดยางของ Park Tool ก็จะมีอยู่ 4 โมเดล คือ TL-1.2, TL-4.2, TL-5, TL-6.2 จริงๆ ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงเคยคิดเช่นเดียวกับผมว่าที่งัดยางแบบไหนมันก็ใช้ได้เหมือนกันแหละหน่า… แต่จริงๆ มันมีข้อที่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมอยู่ก็คือเราควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับยางที่เราใช้งานหรือสถานการณ์ที่เราใช้ อย่างเช่น

TL-1.2 หน้าตาของมันจะเป็นตัวยาวๆ ทำจากพลาสติก ด้านนึงเป็นที่งัดอีกด้านเป็นที่เกี่ยวกับซี่ลวดล้อจักรยาน ถ้าหากซื้อชุดนึงเราจะได้มา 3 ชิ้นครับ เจ้าตัวนี้เหมาะกับการพกพาไปปั่นออกทริปข้างนอก หรือจะใช้งานอยู่ที่บ้านก็ได้แต่ว่ายางที่พี่ใช้ต้องเป็นยางงัดนะครับ ความสะดวกสบายของการใช้งานเจ้าตัวนี้คือมือใหม่ก็ใช้ได้ เราใช้สองตัวงัดแล้วเกี่ยวกับซี่ลวดไว้แล้วเอาอีกตัวรูดยางออกก็เปลี่ยนยางได้ง่ายๆ แล้วครับ

ตัว TL-4.2 ตัวก็จะสั้นๆ ลงหน่อยแต่จะดูแข็งแรงขึ้น วัสดุทำมาจากพลาสติกเหมือนกัน มีด้านที่ใช้เกี่ยวกับซี่ลวดล้อจักรยาน และมีปลายอีกด้านเอาไว้งัดยางเหมือนกันแต่แค่ปลายงัดของมันจะสั้นกว่าตัวแรก เมื่อซื้อมาชุดนึงเราจะได้แค่ 2 ชิ้น เจ้าตัวนี้จึงเหมาะกับคนที่ชำนาญการงัดยางนิดนึง แต่เป็นมือใหม่ก็ใช้ได้ไม่ยากเท่าไหร่ครับ พกพาสะดวกอีกเช่นเคยน้ำหนักเบาเหมาะกับคนที่ใช้ยางงัดออกทริป หรือจะใช้ที่บ้านก็ได้ครับผม

สองตัวที่กล่าวไปข้างบนดูจะไม่มีข้อควรระวังในการใช้งานเท่าไหร่ แต่อีกสองตัวที่เราจะกล่าวถึงต่อไปนี้มันมีข้อควรระวังในการใช้งานอยู่นิดหน่อยครับผม คือ TL-6.2 ที่ทำจากวัสดุอลูมิเนียมเคลือบด้วยยางพลาสติกสีน้ำเงิน และ TL-5 ที่ทำมาจากเหล็กทั้งอันหน้าตาดุดันกันเลยทีเดียว โดยเจ้าตัว TL-6.2 เราแนะนำว่าผู้ที่จะซื้อไปใช้งานควรใช้กับยางที่มีความเข็งมากๆ อย่างเช่นยาง Tubeless หรือยางงัดขอบลวดครับ หากเอาไปใช้กับยางงัดแข็งขันที่เป็นขอบพับที่มีความบางและขอบไม่ใช่ขอบลวดก็ค่อนข้างอันตรายต่อยางนิดนึงครับผม การใช้งานค่อนข้างต้องใช้ความชำนาญในการงัดยางนิดหน่อยเพราะว่ามันไม่มีหัวเกี่ยวซี่ลวดนั่นเอง ไม่แนะนำให้พกพาเท่าไหร่นะครับเพราะค่อนข้างมีน้ำหนักหากซื้อไปใช้แนะนำว่าใช้งานอยู่ที่บ้านน่าจะสะดวกกว่า

ตัวสุดท้ายสำหรับที่งัดยางเลยคือ TL-5 ทำจากวัสดุเหล็ก เจ้าตัวนี้เราแนะนำสำหรับผู้ที่ใช้ยาง Tubeless กับ ผู้ที่ใช้รถจักรยานประเภท เสือภูเขา Downhill และ Enduro ครับ เพราะว่ายางของรถประเภทนี้จะมีความเหนียวและแข็งแรงสูงมาก หากไปใช้ตัวที่เป็นพลาสติดงัดอาจจะทำให้ที่งัดยางหักก็เป็นได้ ไม่แนะนำให้พกพาอย่างยิ่งเพราะว่ามันหนักมาก

ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วข้อควรระวังในการงัดยางทุกประเภทเราควรระวังหัวที่งัดยางจิกยางของเราครับ โดยเฉพาะการงัดยางงัดไม่ว่าจะเป็นขอบลวดหรือขอบพับปกติก็ตามการใช้ที่งัดยางมันอาจจะไปจิกยางในของเราจนเกิดการรั่วได้ทำให้เราอาจจะเสียยางในไปเส้นนึงต้องซื้อมาเปลี่ยนใหม่กันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นการเลือกที่งัดยางก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับยางแต่ละภระเภทและขอบล้อที่พี่ๆ ใช้กันนะครับ หวังว่าคอนเทนต์นี้จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกซื้ออุปกรณ์ไม่มากก็น้อยครับ ในครั้งต่อไปเราจะมาแนะนำการใช้งานที่เหมาะกับสมสินค้าตัวไหนบ้างอย่าลืมติดตามกันนะครับ