ปัจจุบันชุดขับสมัยใหม่เริ่มจะผลิตมาในรูปแบบชุดขับระบบดิสก์เบรกกันเยอะขึ้นแล้ว ในคอนเทนต์นี้เราจึงจะมาพูดถึงในเรื่องของการถอดและติดตั้งใบดิสก์เบรกทั้ง 3 ระบบกัน โดยจะแบ่งเป็น 6-Bolt Rotors Center-lock Rotors และ ROTOR ADAPTERS ซึ่งจะมีวิธีการถอดเปลี่ยน การติดตั้ง และ ใช้เครื่องมือในการเซอร์วิสที่ต่างกัน จะเป็นอย่างไรมาดูกันครับ

ในการถอดเปลี่ยนใบดิสก์เบรกแบบ 6-Bolt Rotors จะใช้อุปกรณ์คือ ประแจหัวดาว T25 Torx® อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันก็จะมี ประแจทอร์ก TW-5.2 และ หัวข้อต่อขนาด T25 Torx® น้ำยาล็อคเกลียวน็อต (น้ำยาล็อคไทท์) TLR-1

การถอดเปลี่ยนใบดิสก์เบรกแบบ Center-lock Rotors ในระบบที่ใช้แหวนล็อคแบบเดียวกับล็อคลิงเฟือง Shimano จะใช้อุปกรณ์ถอดล็อคลิงเฟือง FR-5.2 หรือ FR-5.3H แต่ถ้าเป็นระบบแหวนล็อคแบบกะโหลก Shimano จะใช้ BBT-9 หรือ BBT-69.2 อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันก็จะมี ชุดหัวประแจซ็อกเก็ตขนาด 1 นิ้ว หรือ ประแจหัวเลื่อน PAW-12 ประแจทอร์ก TW-6.2 เวอร์เนียดิจิตอล DC-1 ตลับเมตร RR-12 ถุงมือ ผ้าสะอาด และ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์

1.ใบดิสก์เบรกสึกหรอ – การวัดความหนาของพื้นผิวใบดิสก์เบรกและเปรียบเทียบกับส่วนที่ไม่ได้ใช้ของใบดิสก์ เช่น ส่วนแขนของใบดิสก์ จะทำให้เรารู้ได้ทันทีว่าใบดิสก์เบรกของเราสึกหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วการสึกหรอที่วัดได้จะอยู่ที่ตั้งแต่ 2 – 4 ใน 10 มิลลิเมตรขึ้นไป นั่นเป็นหลักฐานของใบดิสก์ที่สึกหรอ

ผู้ผลิตบางรายระบุข้อกำหนดการสึกหรอเอาไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น

ใบดิสก์เบรกของ Shimano® ของใหม่มือหนึ่งเริ่มต้นที่ 1.8 มม. และ Shimano แนะนำให้เปลี่ยนอย่างน้อยเมื่อบางถึง 1.5 มม.

ใบดิสก์เบรกของ Hope® ของใหม่มือหนึ่งเริ่มต้นที่ 1.8 มม. และ Hope แนะนำให้เปลี่ยนอย่างน้อยเมื่อบางถึง 1.4 มม.

ทั้งนี้แล้วเราควรตรวจสอบข้อมูลกับผู้ผลิตอีกรอบสำหรับข้อมูลเฉพาะของแบรนด์แต่ละแบรนด์เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเปลี่ยนใบดิสก์ของเราด้วยครับ

2.ใบดิสก์เบรกเกิดความเสียหายหรืองอ – เมื่อเราปั่นจักรยาน ใบดิสก์เบรกที่โค้งงอจะได้ยินเสียงเสียดสีเป็นจังหวะในขณะที่ล้อหมุน หรือ สามารถมองเห็นด้านที่เอียงได้เมื่อเราหมุนล้อแล้วใบดิสก์เบรกสีกับผ้าเบรกด้านในคาลิปเปอร์ การดัดใบดิสก์เบรกใหม่สามารถทำได้ในบางกรณี แต่บางครั้งการเปลี่ยนก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

3.อัปเกรดหรือเปลี่ยนขนาดใบดิสก์เบรก – บางครั้งเราอาจต้องการอัปเกรดใบดิสก์เบรกให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นหรือมีขนาดใหญ่ขึ้น ปรกติแล้วใบดิสก์เบรกจะมีทั้งหมด 4 ขนาดหลักที่ใช้กันทั่วไปในอุตสาหกรรมจักรยาน คือ 140 160 180 และ 203 มม. อย่างไรก็ตามใบดิสก์เบรกบางแบรนด์อาจจะไม่มีค่าต่างๆ แสดงอยู่บนใบดิสก์ ดังนั้นเราควรวัดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกอีกครั้งด้วยการวัดใบดิสก์เบรกเพื่อความมั่นใจ

โดยทั่วไปคุณจะต้องเปลี่ยนใบดิสก์เบรกขนาดเดียวกันทุกครั้ง แต่ถ้าหากคุณเปลี่ยนขนาดของใบดิสก์เบรก คุณอาจต้องเปลี่ยนคาลิปเปอร์หรืออะแดปเตอร์ด้วยดิสก์เบรกด้วย เพราะฉะนั้นควรตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ กับผู้ผลิตเพื่อความมั่นใจในการเปลี่ยน

การถอดใบดิสก์เบรกประเภทนี้ ต้องคลายน็อตใบดิสก์เบรกทั้ง 6 ตัว ออกก่อน โดยใช้ประแจที่เหมาะสมกับขนาดของน็อต โดยทั่วไปจะเป็นประเเจหัวดาว T25 หลังจากคลายน็อตทั้งหมดออกมาแล้วก็จะสามารถยกใบดิสก์เบรกออกได้ทันที

การถอดใบดิสก์เบรกแบบ 6-Bolt Rotors ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ง่ายดาย แต่การใส่กลับนั้นมีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนนิดหน่อย โดยต้องเริ่มจากการกำหนดทิศทางของใบดิสก์เบรกที่ถูกต้องก่อน การออกแบบใบดิสก์เบรกส่วนใหญ่จะมีสัญลักษณ์ลูกศรอยู่บนใบดิสก์เบรก ซึ่งควรจะหมุนตรงกับทิศทางการหมุนของล้อจักรยานเสมอ

ใช้ผ้าสะอาดชุบไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์เช็ดทั้งสองด้านของพื้นผิวใบดิสก์เบรกเพื่อทำความสะอาด เมื่อตรวจสอบดีแล้วว่าหมุนไปทิศทางไหนและเช็ดทำความสะอาดเรียบร้อย เราก็วางใบดิสก์เบรกบนดุมล้อโดยจับใบดิสก์เบรกจากขอบด้านในและวางใบดิสก์เบรกให้รูบนใบดิสก์เบรกตรงกับรูยึดน็อตของดุมล้อ

หลังจากนั้นให้เราค่อยๆ ใส่น็อตแต่ละตัวลงไปในรูยึดใบดิสก์เบรกโดยให้เราขันน็อตแบบหลวมๆ ไว้ก่อน ในขั้นตอนนี้หากน็อตของเราไม่มีน้ำยาล็อคไทท์ให้เราทาน้ำยาล็อคไทท์ TLR-1 ที่เกลียวน็อตทั้ง 6 ตัว เพื่อช่วยให้น็อตยึดใบดิสก์เบรกสามารถยึดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขันน็อตทั้ง 6 ตัว ให้พอตึงๆ มือไปทางด้านตามเข็มนาฬิกาเพื่อจับคู่ขอบด้านหน้าใบดิสก์เบรกกับรูสลักเกลียวน็อตให้ตรงกันโดยใช้ประแจหัวดาว T25 หลังจากนั้นก็ไล่ขันค่านิวตันเมตร (Nm.) น็อตให้แน่นทุกตัวไขว้กันเป็นรูปดาวเพื่อกระจายแรงบิดจนครบ 6 ตัว ตัวละ 4-6 นิวตันเมตร (ขันน็อตฝั่งตรงข้ามกันสลับกันไปเรื่อยๆ จนครบ 6 ตัว) โดยใช้ประแจทอร์ก TW-5.2 และประแจข้อต่อหัว T25 ในการขัน หลังจากนั้นก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

ข้อควรระวัง ห้ามอัดจาระบีหรือสารหล่อลื่นที่สลักเกลียวน็อต สารหล่อลื่นจะสามารถเล็ดลอดออกมาได้หากเจอความร้อนจากการเบรกและทำให้ใบดิสก์เบรกเปื้อน ประสิทธิภาพในการเบรกก็จะลดลง

การถอดใบดิสก์เบรกระบบ CENTER-LOCK ROTORS เริ่มต้นด้วยการกำหนดรูปแบบประเภทของตัวล็อกใบดิสก์เบรกก่อน เพื่อที่จะกำหนดอุปกรณ์ที่คุณต้องการใช้ในการถอดและใส่ใบดิสก์เบรก ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่ายในการระบุความแตกต่างของมาตรฐานตัวล็อคใบดิสก์เบรก ให้เราลองสังเกตที่ตัวล็อคใบดิสก์เบรก หากตัวล็อคใบดิสก์เบรกของคุณมีรอยบากที่ด้านนอกของตัวล็อค แปลว่าเราต้องใช้ BBT-9 และ BBT-69.2 ในการถอดและใส่ แต่ถ้าหากมีรอยบากด้านในและไม่มีรอยบากด้านนอก เราจะต้องใช้ FR-5.2 หรือ FR-5.2H ในการถอดและใส่

เมื่อรู้แล้วว่าตัวล็อคใบดิสก์เบรกเราเป็นแบบไหน ก็ให้ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมสวมลงไปที่ตัวล็อคใบดิสก์เบรก และขันคลายแบบทวนเข็มนาฬิกาแล้วถอดตัวล็อคใบดิสก์เบรกออก แค่นี้เราก็สามารถดึงใบดิสก์เบรกออกจากดุมล้อได้แล้ว

ในส่วนของการติดตั้งก็ไม่ยากเลยเพียงแค่ทำทุกอย่างย้อนกลับ แต่ก็จะมีบางขั้นตอนที่เพิ่มเข้ามา คือ เริ่มจากการที่เราเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับประเภทของตัวล็อคใบดิสก์เบรกของเราก่อนเหมือนเดิม ถ้าตัวล็อคใบดิสก์เบรกมีรอยบากด้านนอก ต้องใช้ BBT-9 และ BBT-69.2 แต่ถ้าหากมีรอยบากด้านในต้องใช้ FR-5.2 หรือ FR-5.2H

ทำความสะอาดใบดิสก์เบรกด้วยผ้าสะอาดชุบไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ เมื่อทำการติดตั้งใบดิสก์เบรก สิ่งสำคัญที่สุดคือใบดิสก์เบรกต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อน และ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้าใบดิสก์เบรกด้วยมือของคุณ

ใส่ใบดิสก์เบรกลงบนดุมล้อโดยใส่ให้ถูกทิศทางตามสัญลักษณ์ลูกศรบนใบดิสก์เบรก เลื่อนใบดิสก์เบรกให้เข้าที่และขันตัวล็อคใบดิสก์เบรกให้แน่นโดยใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับประเภทของตัวล็อคใบดิสก์เบรก

ใช้ประแจทอร์ก TW-6.2 กับอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับระบบล็อคใบดิสก์เบรกในการขันค่านิวตันเมตร (Nm.) ขันแน่นที่ 40 นิวตันเมตร ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

เราสามารถติดตั้งโรเตอร์แบบ 6-Bolt Rotors บนดุมล้อแบบ CENTER-LOCK ROTORS ได้โดยการใช้ชุดอะแดปเตอร์ที่ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์ในการแปลงชุดตัวล็อคใบดิสก์เบรก ชุดอุปกรณ์เหล่านี้แตกต่างกันไปเล็กน้อยตามการออกแบบแต่โดยทั่วไปแล้วก็ใช้หลักการติดตั้งคล้ายๆ กับที่เรากล่าวมาก่อนหน้านี้ทั้งสองระบบ เช่น

ตัวอย่าง 1 SHIMANO จับคู่อะแดปเตอร์เข้ากับฮับล้อจักรยาน ขันน็อตผ่านใบดิสก์เบรกเข้ากับอะแดปเตอร์และขันน็อตสลับฝั่งในรูปแบบดาวเช่นเดียวกับที่คุณทำเมื่อติดตั้งบนดุมล้อแบบ 6-Bolt Rotors เพื่อแปลงระบบล็อคดิสก์เบรกจากแบบ CENTER-LOCK ROTORS มาเป็นแบบ 6-Bolt วิธีถอดหรือใส่คืนจึงมีขั้นตอนเหมือนกันเพียงแค่เพิ่มตัวอะแดปเตอร์เข้ามา

ตัวอย่าง 2 : DT SWISS จับคู่อะแดปเตอร์กับฮับ ประกอบใบดิสก์เบรกด้วยข้อต่อ 6 ชิ้นบนอะแดปเตอร์ วางเกลียวบนตัวล็อคและขันตัวล็อคใบดิสก์เบรกให้แน่นเหมือนกับตอนที่ทำในระบบ CENTER-LOCK ROTORS เพื่อแปลงระบบล็อคดิสก์เบรกจากแบบ 6-Bolt มาเป็นแบบ CENTER-LOCK ROTORS วิธีถอดหรือใส่คืนจึงมีขั้นตอนเหมือนกันเพียงแค่เพิ่มตัวอะแดปเตอร์เข้ามา