หากคุณมีจักรยานที่จอดทิ้งไว้หรือปั่นจักรยานเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว คุณควรต้องเช็คจักรยานอย่างสม่ำเสมอ เพราะว่าจักรยานนั้นย่อมมีการคลายตัวของอะไหล่และการสึกหรอของส่วนต่างๆ อยู่เกือบตลอดเวลาที่ปั่น ในบางครั้งเราอาจไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำไปว่ามันมีบางจุดคลายตัวหรือสึกหรอแล้วหรือไม่ เพราะฉะนั้นก่อนการออกปั่นทุกครั้งเราควรจะต้องตรวจเช็คจักรยานเพื่อให้พร้อมต่อการออกปั่นในครั้งถัดไป มาดูกันว่าคุณควรที่จะต้องตรวจเช็คอะไรบ้างก่อนการออกปั่น 

ส่วนแรกที่สำคัญที่สุดเลยคือผ้าเบรกและสายสลิงเบรก ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนผ้าเบรกหนึ่งครั้งจะใช้ได้ค่อนข้างนาน แต่เราก็ควรที่จะตรวจเช็คผ้าเบรกอยู่สม่ำเสมอเพราะ ถึงจะเปลี่ยนผ้าเบรกมาใหม่แต่เมื่อใช้ไปสักพักก็มีโอกาสที่หน้าผ้าเบรกจะไหม้ได้เช่นกัน ถ้าหากผ้าเบรกสึก หน้าผ้าเบรกด้าน หน้าผ้าเบรกหมด หน้าผ้าเบรกไหม้ ผลที่ตามมาคือเราอาจเบรกไม่ค่อยอยู่และอาจทำให้ขอบล้อได้รับความเสียหายได้ การตรวจเช็คหน้าผ้าเบรกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลดีต่อความปลอดภัยของตัวผู้ปั่นเอง  

ทั้งนี้ในเรื่องเบรกเราก็ควรเช็คสายสลิงเบรกด้วยว่าตึง หย่อน หรือ เสื่อมสภาพแล้วหรือไม่ เนื่องจากว่าบางสถานการณ์เราจำเป็นต้องใช้เบรกค่อนข้างเยอะ เช่น ตอนลงเขา ถ้าหากสายสลิงเสื่อมสภาพนอกจากมันจะทำให้ประสิทธิภาพของกำลังเบรกต่ำลงแล้วมันอาจมีโอกาสที่จะขาดระหว่างปั่นได้อีกด้วย  

ส่วนต่อมาคือเรื่องของจุดค็อกพิท 3 จุด ประกอบด้วย สเต็ม คอจักรยาน และ ตัวรัดหลักอาน การปั่นจักรยานนั้นแน่นอนว่าเราจะปั่นทางเรียบแค่ไหนรถของเราก็ยังคงมีแรงสั่นสะเทือนอยู่ดี แรงสั่นสะเทือนที่ส่งผ่านเฟรมมานั้นจะทำให้น็อตตามจุดต่างๆ ของจักรยานมีโอกาสคลายตัวได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีการตรวจเช็คความแน่นของน็อตแต่ละตัวอยู่เสมอ ซึ่งเป็นผลดีต่อการปั่นและความปลอดภัยของตัวผู้ปั่นเอง ถ้าหากว่าไม่อยากเช็คความแน่นของน็อตบ่อยๆ เราอาจจะใช้น้ำยาล็อคไทท์เป็นตัวช่วยในการยึดน็อตแต่ละตัวตามสเต็ม ตัวรัดหลักอาน และ คอจักรยาน เพราะน้ำยาล็อคไทท์ทำหน้าที่เหมือนกาวที่ช่วยลดโอกาสในการคลายตัวของน็อตได้ค่อนข้างดี หากน็อคคลายตัวอาจจะทำให้หลักอานรูดลงในขณะปั่น หรือ แฮนด์รูดลงในขณะปั่นได้ ทั้งนี้น็อตจุดอื่นก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่น น็อตล็อคชิฟเตอร์ น็อตขากระติกน้ำ ฯลฯ

แกนปลดไวของล้อจักรยานก็เป็นอีกจุดที่เราไม่ควรที่จะมองข้าม เพราะว่าถ้าหากเราขันไม่แน่นอาจจะทำให้ล้อเคลื่อน หรือในช่วงที่เราขึ้นลูกระนาดสูงๆ ปั่นมาเร็วๆ หน้ายกครั้งเดียวอาจมีโอกาสล้อหลุดจากตะเกียบได้ถ้าหากแกนปลดหลวม นอกจากนี้แล้วการที่แกนปลดไวของเราหลวมยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนระหว่างปั่นได้อีกด้วย 

ยาง ลมยาง ความสะอาดของโซ่และเฟือง เป็นปัจจัยเล็กน้อยแต่ส่งผลให้คุณนั้นปั่นได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ในการปั่นจักรยานลมยางย่อมมีผลต่อความเร็วเสมอ ในเรื่องหน้ายางนั้นจะกว้างหรือแคบก็ไม่ได้มีผลต่อความหน่วงเท้าแต่มีผลต่อความนุ่มและความเกาะถนนเสียมากกว่า สิ่งที่ทำให้ยางไม่ว่าจะหน้ากว้างหรือแคบมีผลต่อการปั่นคือลมยาง เพราะฉะนั้นเราควรเติมลมยางให้เต็มตามค่าที่ยางแนะนำก่อนการออกปั่น  ยิ่งเป็นยางหน้ากว้างถ้าเกิดลมยางอ่อนมากมันจะทำให้แรงหน่วงที่เกิดขึ้นจากผิวสัมผัสของหน้ายางกับถนนนั้นเพิ่มมากขึ้นเป็นผลให้เราปั่นแล้วสิ้นเปลืองแรงหรือที่นักปั่นมักพูดว่าหน่วงเท้านั่นแหละ! 

ทั้งนี้ความสะอาดของโซ่และเฟืองก็มีผลต่อการเสียแรงในการปั่นอีกด้วย นอกจากนั้นเเล้วการที่โซ่และเฟืองสกปรกยังทำให้อายุการใช้งานของชุดขับใช้งานได้ไม่นานเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นอย่าลืมหมั่นทำความสะอาดโซ่ เฟือง และ เติมลมยางก่อนออกปั่นครับ 

ความพร้อมของอุปกรณ์พกพาอาจเป็นสิ่งที่นักปั่นหลายท่านอาจมองว่าไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ในกรณีที่ปั่นในระยะทางที่ไม่ไกลมาก แต่ความเป็นจริงคือจักรยานของเรามีโอกาสที่จะ ยางรั่ว ยางแตก หรือ อะไหล่บางชิ้นคลายตัว ในขณะที่เราปั่นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นอุปกรณ์พกพาอย่างเช่น ชุดประแจหกเหลี่ยมพกพา แผ่นปะยาง ที่งัดยาง และ น้ำยางเติมยาง หรือ ยางใน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นถึงแม้จะปั่นระยะทางใกล้หรือไกลก็ตามครับ 

ความพร้อมของตัวผู้ปั่นอาจจะดูเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับจักรยานเลย แต่ผลกระทบจากตัวผู้ปั่นที่ส่งผลต่อจักรยานก็มีเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อเราพักผ่อนไม่เพียงพอแล้วออกไปปั่นจักรยาน ในบางสถานการณ์เราอาจปั่นอยู่ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุหรือระยะทางไกลๆ ความไม่พร้อมของร่างกายอาจจะส่งผลกระทบให้เกิดอาการวูบจนบางครั้งเราอาจจะล้มหรือพบกับเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถตั้งตัวได้ทันจนทำให้ประสบอุบัติเหตุได้ ผลที่ตามมาคือนอกจากผู้ปั่นบาดเจ็บแล้วมันทำให้จักรยานของท่านเกิดความเสียหายได้จากเหตุการณ์นั้นๆ เพราะฉะนั้นการเตรียมความพร้อมของร่างกายผู้ปั่นเป็นสิ่งที่ดีต่อตนเองและจักรยาน 

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นกรณีที่เรายกตัวอย่างมาจากอีกหลากหลายกรณีที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราและจักรยานได้ ยังมีอีกหลายกรณีที่เราควรระวังและควรตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นการเซอร์วิสจักรยานด้วยตนเองเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ดีต่อผู้ปั่นและจักรยานอย่างมาก อย่าลืมที่จะตรวจเช็คจักรยานอยู่สม่ำเสมอและเราแนะนำว่าในทุกๆ 3 เดือน อย่างน้อยเราควรนำจักรยานไปฟูลเซอร์วิสสัก 1 ครั้ง ถึงแม้เราจะมีการตรวจเช็คจักรยานของเราอยู่สม่ำเสมอก็ตามเพื่อให้เรามีความมั่นใจในจักรยานของเรา สำหรับนักปั่นแล้วจักรยานก็เหมือนคู่หูเราจึงต้องใส่ใจจักรยานของเราเป็นพิเศษครับผม