จากพาร์ทแรกที่เราได้กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดอาการบาดเจ็บในแต่ละปัจจัยกันไป วันนี้เราจะมาต่อกันในเรื่องของปัจจัยอีกเช่นเคย แต่ว่าเราจะมาในเชิงวิทยาศาสตร์การกีฬาแบบเข้าใจง่ายกัน คือ เรื่องของกรดแลคติกและความคุ้นชินของกล้ามเนื้อ นอกจากปัจจัยภายนอกที่เรากล่าวไปเมื่อพาร์ทที่ 1 ก็จะมีเรื่องของความคุ้นชินและกรดแลคติกในกล้ามเนื้อที่สามารถทำให้เราเกิดอาการบาดเจ็บในขณะที่ออกกำลังกายหรือหลังการออกกำลังกายได้เช่นกันครับ

มาพูดถึงเรื่องของกรดแลคติกกันก่อน การออกกำลังกายคือการเผาผลาญพลังงาน แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่าเราออกำลังกายแล้วเผาผลาญพลังงานไม่หมด? คำตอบคือ เกิด “กรดแลคติก” ครับ โดยกรดตัวนี้เป็นของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงาน เมื่อเราออกกำลังกายโดยใช้แรงมากๆ จะเกิดกระบวนการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้น หัวใจของเราจะทำงานหนักขึ้น และเราจะหายใจเร็วขึ้นเพื่อนำออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อส่วนที่ทำงานหนัก ร่างกายของเราจึงจะสร้างพลังงานโดยใช้ระบบแอโรบิคซึ่งหมายถึงการใช้ออกซิเจนนั่นเอง และเมื่อเราออกกำลังกายไปเรื่อยๆ ก็จะมีกระบวนการงัดพลังงานและพลังงานสำรองในร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นมาเผาผลาญ และถ้าหากใช้ไม่หมดก็จะเกิดเป็นกรดแลคติกครับ

ทั้งนี้การวอร์มอัพและการคูลดาวน์จะช่วยลดอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย เพราะถ้าหากว่าร่างกายเราไม่ปรับสภาพให้พร้อมต่อการออกกำลังกายและเผาผลาญพลังงานก็จะทำให้เกิดกรดแลคติกสะสมได้ง่าย ผลที่ตามมาคือทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการปวดเมื่อยหรืออาการบาดเจ็บได้ และนอกจากนี้การวอร์มอัพและคูลดาวน์นอกจากจะช่วยลดกรดแลคติกมันยังช่วยให้กล้ามเนื้อกระชับและปรับตัวได้ดีในการออกกำลังกายด้วย

ในเรื่องของการปรับสภาพกล้ามเนื้อกัน กล้ามเนื้อของแต่ละคนนั้นจะมีสภาพที่แตกต่างกันออกไปตามความยืดหยุ่นและความแข็งแรง แต่โดยธรรมชาติร่างกายคนเรานั้นจะปรับสภาพตามการใช้งานกล้ามเนื้อของตัวเราเอง เช่น ถ้าหากเราออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ช่วงแรกๆ อาจจะมีอาการปวดเมื่อยแต่พอเราออกกำลังกายไปได้สักระยะจะเริ่มรู้สึกได้ว่าเรามีอาการเหล่านั้นลดลง นั่นคือกล้ามเนื้อของเราได้ปรับสภาพเรียบร้อยแล้ว

สาเหตุที่บางครั้งเราอาจเมื่อยล้าจากการออกกำลังกายคือเนื่องจากร่างกายมีการใช้งานกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว มันจึงเกิดกระบวนการดึงพลังงานออกมาใช้ หากเผาผลาญไม่หมดในกรณีที่ร่างกายเราไม่เคยชินกับการใช้กล้ามเนื้อหนักๆ หรือ กล้ามเนื้อยังไม่ได้ปรับสภาพให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น เริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ มันจะเผาผลาญและเกิดเป็นกรดแลคติกในกล้ามเนื้อ จึงทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าได้แต่ในกรณีที่ออกกำลังกายบางครั้งเราอาจจะรู้สึกได้ว่ามันมีอาการบาดเจ็บร่วมด้วย หรือ ปวดเมื่อยจนเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้หลังจากการออกกำลังกาย มันจึงเห็นเหตุผลที่ว่านอกจากเรื่องของกรดแลคติกแล้วก็มีเรื่องของการปรับสภาพของกล้ามเนื้อมาเกี่ยวข้องด้วย และบางครั้งก็อาจจะเกิดได้จากการที่เราหักโหมใช้แรงกล้ามเนื้อจนเนื้อเยื้อกล้ามเนื้อฉีกขาดก็ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมาได้อีกด้วย แต่เรื่องของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อฉีกขาดนั้นเมื่อเราพักผ่อนแล้วกล้ามเนื้อจะทำการฟื้นฟูตัวเองขึ้นมา แนะนำว่าเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บหรือปวดเมื่อยเหนื่อยล้าก็ให้เราหยุดกิจกรรมและพักผ่อนสักวันก่อนแล้วจึงออกกำลังกายใหม่อีกรอบครับ

วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เราหลีกหนีจากอาการเหล่านี้ได้อย่างดีที่สุดเลยคือความมีวินัยในการออกกำลังกาย เช่น การวางแผนการออกกำลังกาย เรามักเน้นย้ำกันในหลายๆ คอนเทนต์ว่า เราควรจะต้องวางแผนการออกกำลังกาย การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และ การพักผ่อน อย่างเหมาะสม เพราะถ้าหากเราฝืนออกกำลังกายมากเกินไปโดยที่เรามีเวลาพักผ่อนหรือทานอาหารน้อย ร่างกายของเราก็จะปรับสภาพและฟื้นฟูร่างกายได้ไม่เต็มที่ ทำให้การออกกำลังกายในครั้งถัดไปไม่มีประสิทธิภาพและเกิดอาการเหนื่อยล้าสะสมได้ สุดท้ายเมื่อเราเกิดการเหนื่อยล้าสะสมก็จะทำให้เราเบื่อและไม่อยากออกกำลังกาย เพราะฉะนั้นอย่าลืมยืดเส้นยืดสายก่อนออกกำลังกาย หลังออกกำลังกาย และวางแผนการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมกันด้วยนะครับ