ห่างหายกันไปนานมากกับคอนเทนต์ที่จะพาพี่ๆ นักปั่นมาเลือกใช้อุปกรณ์ได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่ากับการใช้งาน ในพาร์ทก่อนๆ เราได้กล่าวถึงการเลือกใช้ ประแจทอร์ก จาระบี ประแจโซ่ และ ที่งัดยางกันไปแล้ว ในพาร์ทที่ 4 นี้ เราจะมาพูดถึง แท่นซ่อมยอดนิยม 4 รุ่น ที่นักปั่นจักรยานนั้นชอบซื้อกันว่าเราควรจะเลือกรุ่นไหนดี เลือกตัวไหนจะเหมาะสมกับการใช้งานของเราครับ

มาดูกันที่แท่นซ่อมจักรยานรุ่นยอดนิยมทั้ง 4 รุ่นกันก่อน โดยจะมีรุ่น PCS-9.2 PCS-10.2 PRS-22.2 และ PRS-25 ซึ่งเราจะขอแบ่งประเภทเป็นตัวเริ่มต้นกับตัวที่ดูเป็นรุ่นโปรกันก่อนเพื่อที่จะง่ายในการเปรียบเทียบ ก็คือ PCS-9.2 กับ PCS-10.2 ที่เป็นรุ่นเริ่มต้น และ PRS-22.2 กับ PRS-25 ที่เป็นในรุ่นระดับตัวโปร

ในระดับตัวเริ่มต้นของแท่นยอดนิยมคือ PCS-9.2 กับ PCS-10.2 ต้องบอกก่อนว่าทั้งสองรุ่นนี้หน้าตาคล้ายกันมากอย่างกับฝาแฝดและแตกต่างกันเพียงไม่กี่จุด โดยเบื้องต้นแล้วจุดที่เหมือนกัน คือ สามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 36 กิโลกรัม ขาตั้งสามารถพับเก็บได้และง่ายสำหรับการพับเก็บ แคลมป์รองรับขนาดเฟรมได้ถึง 25mm ถึง 76mm และยังสามารถจับกับหลักอานได้ โครงสร้างทำมาจากเหล็กทั้งหมดเพื่อความแข็งแรงและทนทาน พับเก็บได้อย่างรวดเร็วง่ายดาย สามารถปรับความสูงได้ 99 ซม. ถึง 145 ซม. สามารถติดอุปกรณ์เสริมต่างๆได้เช่น ถาดวางเครื่องมือซ่อมจักรยาน (106) และ ที่แขวนกระดาษทิชชู่ (PTH-1) ของ Park Tool ถ้าหากชิ้นส่วนใดของแท่นซ่อมจักรยานชำรุดสามารถซื้ออะไหล่แยกชิ้นได้ ท่อของแท่นมีรูปทรงแบบหยดน้ำทำให้มีความแข็งแรงมากกว่าทรงแบบกลม หัวแคลมป์สามารถหมุนองศาการซ่อมได้ 360 องศา ทั้งหมดนี้คือจุดที่เหมือนกัน 

ในเรื่องของความแตกต่างของทั้งสองรุ่นนี้ คือ ตัวรุ่นพี่อย่าง PCS-10.2 จะสามารถพับเก็บและปรับระดับได้สะดวกรวดเร็วกว่า PCS-9.2 ด้วยตัวปรับตามข้อต่อและหัวแคลมป์ ถ้าหากสังเกตจากภาพ PCS-9.2 ตรงข้อต่อจะเป็นตัวรัดแบบใช้น็อตขันเพื่อล็อคระดับความเเน่น และมีลูกบิดเพื่อเอาไว้หมุนเพื่อปรับความแน่นอีกรอบ ทางด้านหัวเเคลมป์ที่เป็นตัวจับก็จะใช้มือหมุนเพื่อปรับความแน่นในการหนีบจับจักรยาน แต่ PCS-10.2 ตรงส่วนข้อต่อจะเป็นระบบเหมือนแกนปลดไวซึ่งเวลาทำงานเซอร์วิสความเร็วและความไวถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งนี้แล้วหัวแคลมป์ของ PCS-10.2 ยังเป็นหัวบิดแบบปลดไวอีกด้วยทำให้เวลาทำการเซอร์วิสเราจะสามารถปรับหัวจับท่อหลักอานหรือท่อเฟรมจักรยานได้อย่างรวดเร็ว 

หากถามว่าเราควรเลือกตัวไหนดี  บอกตามตรงว่าเป็นอะไรที่เลือกยากมากเพราะสองตัวนี้ค่อนข้างคล้ายกันและราคาห่างกันไม่มากเท่าไหร่ เราเลยอยากแนะนำว่าให้แบ่งตามการใช้งานของเราก่อน โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.ใช้งานเยอะ ต้องการความรวดเร็วในการทำงาน 2.เน้นใช้งานเรื่อยๆ เซอร์วิสแบบ สบายๆ 

หากอยู่ในกรณีที่เราต้องใช้งานบ่อยๆ ต้องการความรวดเร็วทันใจ หรือ รับเซอร์วิสบ้างบางครั้ง เราจะแนะนำเป็นตัว PCS-10.2 เป็นทางเลือกที่ดูเหมาะสมกว่า เพราะว่าตัวข้อต่อและหัวบิดต่างๆ เป็นระบบข้อปลดไว มันจึงสามารถที่จะทำงานได้รวดเร็วและคล่องตัวมากกว่า ที่เหลือก็แทบไม่ค่อยมีอะไรต่างจากตัว PCS-9.2 มากเท่าไหร่

ถ้าในกรณีที่เราเน้นเซอร์วิสด้วยตัวเอง เซอร์วิสเองเรื่อยๆสบายๆ ไม่ต้องแข่งขันกับเวลา และประหยัดงบ เราแนะนำเป็น PCS-9.2 เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า หรืออยากจะเพิ่มงบอีกสักนิดเพื่อซื้อ PCS-10.2 เลยก็ได้ ที่บอกว่า PCS-9.2 เหมาะกับการเซอร์วิสแบบ ทำเองอยู่บ้านมากกว่า เพราะว่าตามข้อต่อและหัวแคลมป์มันใช้ระบบลูกบิดที่เราต้องบิดเอาเองจนมันแน่นก็จะเสียเวลานิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรกับผู้ที่เซอร์วิสเองอยู่บ้าน ถ้าเป็นตัว PCS-10 ก็จะสามารถใช้งานได้ทั้งระดับผู้เริ่มต้นไปถึงระดับช่างเซอร์วิสตามร้านเลยทีเดียว 

มาถึงตัวระดับโปร จะมีรุ่น PRS-22.2 กับ PRS-25 ซึ่งเราก็จะได้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนแล้วระหว่าง 2 รุ่นนี้กับตัวที่เรากล่าวมาด้านบน โดยเราจะเริ่มจากตัวที่หน้าตาดูคล้ายๆ กับ PCS-9.2 กับ PCS-10.2 ก่อน คือรุ่น PRS-25 

PRS-25 TEAM ISSUE REPAIR STAND ชื่อมันบอกว่าตัวทีมแปลว่ามันมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานกับทีมแข่งขันแต่ก็สามารถใช้งานที่บ้านได้เช่นกัน จุดเด่นของรุ่นนี้ก็จะมีเยอะขึ้นและตอบโจทย์ในหลากหลายสถานการณ์มากขึ้น 

 

PRS-25 แท่นซ่อมจักรยานคุณภาพสูงสำหรับทีมจักรยานที่ตอบโจทย์ในเรื่องความรวดเร็ว ความเเข็งแรงทนทาน และการพกพาเคลื่อนที่ได้ง่าย มีแคลมป์จับแบบปรับขนาดได้กว้างมากและหมุนได้ 360 องศา จับหลักอานได้ตั้งแต่ขนาด 7/8 – 3 นิ้ว (23–76 มม.) รวมถึงสามารถจับหลักอานแบบแอร์โรได้ด้วย แคลมป์ (หัวล็อค) มีความกว้าง 2.75 นิ้ว (7 ซม.) มีความเร็วและง่ายในการยืดถึง 47 นิ้ว ความสูงของแคลมป์ปรับได้สูงสุดถึง 60 ท่อรูปทรง 6 เหลี่ยม ทำจากอลูมิเนียม มีความยืดหยุ่นต่ำและมั่นคงสูง ตัวล็อคขาอลูมิเนียมทำให้มั่นใจถึงความมั่นคงระหว่างใช้งาน ฐานตอนตั้งกางเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาด 36 “x 36” x 45 “(92 ซม. x 92 ซม. x 115 ซม.) น้ำหนัก 6กก. รองรับน้ำหนักได้ถึง 45 กก. ตัวล็อคระยะตามข้อต่อและหัวแคลมป์ระบบแบบปลดไว ระยะต่างๆ ในการปรับจะทำได้เยอะกว่ารุ่นเริ่มต้นอย่าง PCS-9.2 และ PCS-10.2 

หากดูจากข้อมูลด้านบนเราจะเห็นได้ว่าแท่นซ่อม PRS-25 เป็นแท่นซ่อมระดับโปรที่แน่นเรื่องของความรวดเร็ว ความทนทาน และความไวในการทำงาน เป็นหลัก ด้วยลักษณะของทีมจักรยานอุปกรณ์ที่ใช้เคลื่อนที่จึงต้องมีน้ำหนักเบาและแข็งแรง ซึ่งน้ำหนักของเเท่นตัวนี้น้ำหนักเบามาก ด้วยท่อทรง 6 เหลี่ยมทำให้การรับน้ำหนักนั้นสามารถรับได้เยอะและมีความแข็งแรงสูง ทำให้มันสามารถพับเก็บได้รวดเร็วและแบกไปไหนมาไหนได้สบาย มันจึงเป็นแท่นที่ใช้งานได้อย่างครอบคลุมทุกกรณีเลยทีเดียว ถ้าหากต้องการหน้าแท่นซ่อมที่ใช้งานได้คุ้มค่าทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นตอนออกภาคสนามหรือใช้งานที่บ้านแล้วไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ แท่นตัวนี้สามารถเป็นตัวจบสำหรับทุกคนได้เลย สรุปแล้วคือถ้าไม่ติดเรื่องงบประมาณ ซื้อตัวนี้เอาไว้รับรองคุ้มค่าแน่นอน อีกทั้งหน้าตาของมันยังเท่อีกด้วย

แท่นตัวนี้จะเป็นแท่นที่หน้าตาไม่เหมือนกับตัวอื่นเลย เพราะว่ามันใช้งานด้วยการถอดล้อและวางลงบนฐานแท่นซ่อม เราจึงมักจะเห็นกันตามร้านเซอร์วิสมากกว่า แต่ก็มีนักปั่นหลายท่านที่นิยมซื้อไปใช้เซอร์วิสเองที่บ้านเนื่องด้วยการใช้งานที่ง่ายและสะดวกสบาย มาดูข้อมูลของมันกัน

PRS-22.2 เป็นแท่นซ่อมจักรยานที่มีการอัปเดตด้วยระบบการหมุนที่นุ่มนวล ง่ายต่อการพับเก็บและมีความแข็งแรงสูง แท่นซ่อมจักรยานนี้สามารถยึดจักรยานได้อย่างมั่นคงโดยไม่ต้องจับเฟรมหรือหลักอานเหมือน PCS-9.2/10.2 แต่จะเป็นการยึดตัวกับขาตะเกียบและเฟรมโดยไม่ต้องใช้อะแดปเตอร์ที่ยุ่งยาก เหมาะอย่างยิ่งสำหรับงานทำความสะอาดและงานซ่อมทั่วไปที่ต้องการความคล่องตัวในการทำงานสูง

วัสดุทำจากอลูมิเนียมน้ำหนักเบาเพียง 5.67 กก. ปรับความสูงได้ถึง 76-114 ซม สามารถหมุนในแนวนอนได้ถึง 360 องศา ช่วยให้สามารถเข้าถึงจักรยานได้ทุกจุด และทำความสะอาดจักรยานได้ง่าย สามารถใส่อุปกรณ์เสริมได้ เช่น 106 Work Tray (ถาดใส่เครื่องมือซ่อมจักรยาน) และ PTH-1 ของ Park Tool ที่ใส่กระดาษเช็ดมือ  เคลื่อนย้ายได้ง่าย สามารถรับน้ำหนักสูงสุดของ PRS-22.2 คือ 60 ปอนด์ (27 กก.)

รุ่นนี้จะเหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นใช้งานไปจนถึงระดับช่างมืออาชีพเลย จะสังเกตเห็นได้ว่าร้านเซอร์วิสจักรยานหลายๆ ร้าน และ ทีมจักรยานระดับโปรทัวร์ก็จะนิยมใช้งานแท่นรุ่นนี้ด้วย เพราะว่าแท่นรุ่นนี้มีความคล่องตัวและการใช้งานด้านการซ่อมสูงมาก รวมถึงเมื่อซ่อมเสร็จก็สามารถล้างทำความสะอาดจักรยานบนแท่นต่อได้เลย องศาและระบบของแท่นตัวนี้สามารถทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงการซ่อมได้ทุกจุดและใช้งานได้กับจักรยานทุกประเภทเพราะว่ามีตัวจับตะเกียบที่สามารถใช้ได้กับแกนเพลาล้อทุกรูปแบบและตรงฐานตั้งกระโหลกยังสามารถปรับให้รองรับได้กับกระโหลกจักรยานหลายขนาด ทำให้มันสามารถใช้งานได้คล่องตัวและครอบคลุมที่สุดเลยก็ว่าได้ แต่ราคาก็แรง ถ้าหากจะแนะนำว่าเหมาะสมกับใครคือเหมาะสมกับทุกคน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรามีงบจำกัดหรือไม่ แต่อย่างที่กล่าวไปว่ารุ่นนี้จะนิยมใช้กันในร้านเซอร์วิสเสียมากกว่าเพราะว่าในระบบที่สามารถหมุนได้ 360 องศา แบบแนวนอนก็ต้องใช้พื้นที่สักหน่อยในการทำงาน แต่หากถามถึงความคล่องตัวและความสะดวกต้องยกให้รุ่นนี้เป็นที่ 1 ของแท่นซ่อมจักรยานเลยทีเดียว